Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

I-THERMAL SENSE ระบบทำนายความรู้สึกร้อน-หนาวของผู้ใช้อาคาร โดย นักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ มธ.

I-THERMAL SENSE ระบบทำนายความรู้สึกร้อน-หนาวของผู้ใช้อาคาร โดย นักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ มธ.

หน้าหลัก ผลงานวิจัย I-THERMAL SENSE ระบบทำนายความรู้สึกร้อน-หนาวของผู้ใช้อาคาร โดย นักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ มธ.

นักศึกษาปริญญาเอก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาวิธีการตรวจจับและทำนายความรู้สึกร้อน-หนาวของผู้ใช้อาคารแบบไร้สัมผัส

  กวีวรรณ อินทรชาธร นักศึกษาปริญญาเอก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การดูแลของที่ปรึกษาโดย รศ.ดารณี จารีมิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศีตภา วัชราภินชัย จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้พัฒนาวิธีการตรวจจับและทำนายความรู้สึกร้อน-หนาวของผู้ใช้อาคารแบบไร้สัมผัส โดยไม่รบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยการรวบรวมข้อมูลเชิงสรีรวิทยาที่อาศัยการถ่ายภาพอินฟราเรดจากระยะไกล และนำเทคโนโลยี AI ขั้นสูงมาช่วยในการประมวลผลภาพ เพื่อจำแนกและทำนายความรู้สึกร้อน-หนาวของผู้ใช้อาคารให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น สามารถแก้ไขข้อจำกัดของเทคโนโลยีเดิม และด้วยระยะทางการติดตั้งเครื่องมือที่ไกลขึ้นทำให้สามารถตรวจจับและทำนายผลหลายคนพร้อมกันได้

คณะทีมวิจัยได้ใช้การเรียนรู้เชิงลึก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงประเภทโครงข่ายประสาทเทียม และภาพถ่ายความร้อนบริเวณใบหน้าจากกล้องอินฟราเรด สำหรับการประเมินความรู้สึกร้อน-หนาวของแต่ละบุคคล เมื่อระบบได้รับข้อมูลภาพจากกล้องอินฟราเรดจะทำการตรวจจับใบหน้าที่ปรากฏอยู่ในภาพ แล้วจะทำการจำแนกความรู้สึกของแต่ละบุคคลตามใบหน้าที่ตรวจจับได้ โดยอาศัยข้อมูลอุณหภูมิอินฟราเรด จากนั้น จะแสดงผลการประเมินความรู้สึกร้อน-หนาวในระดับบุคคลของทุกคนในพื้นที่ที่ระบบตรวจพบ

 ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของ “i-Thermal sense: ระบบ AI ตรวจจับและทำนายความรู้สึกร้อน-หนาวของผู้ใช้อาคารในขณะใช้งานจริง” ซึ่งเน้นการทำงานแบบไร้สัมผัสที่สะดวกต่อผู้ใช้อาคาร สำหรับผลการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ i-Thermal sense ให้ผลลัพธ์ประสิทธิภาพที่ดีมากในการทำนายในระดับบุคคล และสามารถรับมือกับปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคลได้น่าพอใจ โดยสามารถทำนายความรู้สึกร้อน-หนาวของบุคคลใหม่ได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะทำการตรวจจับจากระยะไกลและบุคคลที่ใช้ทดสอบมีความแตกต่างหลากหลายของมุมมองใบหน้า ทรงผม หรือการสวมแว่นตา

     ในปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาการเชื่อมเทคโนโลยีนี้ กับระบบการควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศ เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ โดยเน้นการใช้งานในพื้นที่สำนักงานและสถานศึกษาก่อน เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอาคาร ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่สบายแก่ผู้ใช้อาคารและลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศได้


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content