Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หน้าหลัก ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมืองธรรมศาสตร์  เมืองมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้

         บนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กว่า 1,757 ไร่ และพื้นที่ใช้สอยรวม ทั้งหมด 1,143,853 ตารางเมตร อาจกล่าวได้ว่า วันนี้ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้กลายเป็น แม่แบบของการพัฒนาวิทยาเขต (campus) ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศภายใต้นโยบาย “Sustainable Campus” หรือ “มหาวิทยาลัยสีเขียว-ยั่งยืน” และมีความพร้อมต่อการรองรับนักศึกษากว่า 30,000 คนต่อปี ด้วยหอสมุดขนาดใหญ่สามแห่งที่มีรายการค้นคว้ากว่า 200,000 ชิ้น หอพักในของนักศึกษากว่า 7,000 ยูนิต ห้องบรรยายเรียนรวม พร้อมอุปกรณ์ครบครัน กว่า 1,000 ห้อง สนามกีฬาหลักกลางแจ้งมาตรฐานเอเชียนเกมส์ อาคารสระว่ายน้ำ อาคารยิมเนเซียม 3 หลัง จุคนได้กว่า 9,000 คน หน้าผาจำลองที่สูงที่สุดในประเทศ ศูนย์ประชุมระดับชาติ โรงภาพยนตร์ ร้านค้าจำนวนมากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้าในกำกับมหาลัย โรงอาหาร สวนสาธารณะขนาดใหญ่  โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ ตึกกิจกรรมนักศึกษา และชุมนุม ชมรม กว่า 150 กลุ่ม ระบบขนส่งมวลชนที่รวดเร็ว สะดวกสบายต่อการเดินทาง และชุมชนรอบๆ ซึ่งปลอดภัย 

         ทั้งหมดนี้ทำให้ มธ. วิทยาเขตรังสิต กลายเป็น “เมืองธรรมศาสตร์”  เมืองมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แห่งการเรียนรู้และมีความพร้อมเพื่อรอต้อนรับนักศึกษารุ่นใหม่ๆ เข้ามาใช้ชีวิตและเรียนรู้

         มธ.รังสิตมุ่งสร้างชุมชนการเดินและใช้จักรยาน (Pedestrain – Bike Friendly) โดยสนับสนุนให้นักศึกษา ใช้จักรยานเป็นหลักในการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย และมีการจัดทำทางจักรยาน (Bicycle Lane) เชื่อมตึก/อาคารเรียนต่างๆทั่วทั้งมหาลัย  สำหรับการจัดการขยะซึ่งนับว่าเป็นภาระของชุมชนขนาดใหญ่ ศูนย์รังสิตได้รณรงค์เรื่องการแยกขยะผ่านศูนย์สาธิต RRR (reduce/reuse/recycle)  และธนาคารขยะ  เพื่อให้ศูนย์รังสิตมีขยะเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste คือมีการนำกลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ส่วนที่เป็นขยะอินทรีย์ทั้งจากเศษอาหาร หรือเศษใบไม้กิ่งไม้ จะนำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้บำรุงต้นไม้ในมหาวิทยาลัย และขยะอินทรีย์อีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับโรงไฟฟ้าต้นแบบขนาด 1 กิโลวัตต์ ซึ่งจะได้นำไฟฟ้ามาใช้กับบ่อบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัย โรงไฟฟ้าต้นแบบนี้ยังใช้เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับชุมชนรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          แห่งแรก หอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ มีพื้นที่ใช้สอย 18,669 ตารางเมตร เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา  8.00-24.00 น.  และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-18.00 น.  (ในช่วงสอบ เปิดถึง 24.00น.) ภายในมีบริการยืม-คืน หนังสือ ทุกประเภท  ทั้งตำรา วิทยานิพนธ์ หนังสือหายาก นวนิยาย นิตยสารวารสาร หนังสือพิมพ์ ทั้งยังมีบริการ คอมพิวเตอร์ พร้อมอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ปริ้นท์เอกสารฟรีไว้คอยบริการ พร้อมติดตั้งเครือข่ายไร้สายภายในห้องสมุด ตามโครงการ Wireless Campus

ทั้งยังมีห้องมัลติมีเดีย ให้บริการชมภาพยนตร์/โทรทัศน์  ภายในมีห้องประชุมย่อย/ห้องค้นคว้าเฉพาะ (Study Room) หลายสิบห้องคอยให้บริการสำหรับประชุมกลุ่ม ติวหนังสือ ปัจจุบันมีที่นั่งอ่านหนังสือมากกว่า 1,500 ที่นั่ง ที่นั่งอ่านเฉพาะบุคคล 75 ที่ พร้อมห้อง ห้องกิจกรรมขนาด 120 ที่นั่งสำหรับการแสดง ฉายภาพยนตร์ ฟังดนตรี ทั้งนี้ยังมีห้องนิทรรศการป๋วย อึ่งภากรณ์เปิดให้นักศึกษาเยี่ยมชมอีกด้วย

          แห่งที่สอง ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี (อาคารปิยชาติ) เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา  8.00 – 20.00 น.  และวันเสาร์ 9.00 – 18.00 น.  ปิดวันอาทิตย์ (ในช่วงสอบ เปิดถึง 24.00น.) โดยมีรูปแบบและการให้บริการเหมือนหอสมุดป๋วยทุกอย่าง แต่สำหรับหนังสือ เน้นหนักไปทางสายวิทยาศาสตร์ และสุขศาสตร์

          แห่งที่สาม หอสมุดรังสิต เป็นสถานที่เก็บหนังสือหายาก หนังสือเก่าหลายหมื่นรายการ

ทั้งนี้หอสมุดทุกแห่งมีบริการยืม-คืนข้ามห้องสมุดต่างๆ  เชื่อมโยงกันทั้ง 11 แห่ง คือ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ , ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ (คณะนิติศาสตร์) ,ห้องสมุด ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย (คณะพาณิชย์ฯ) , ห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ (คณะเศรษฐศาสตร์) , ห้องสมุด ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม (คณะรัฐศาสตร์) , ห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน , หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ , ห้องสมุดศูนย์รังสิต , ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี (อาคารปิยชาติ) ,  ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา , ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง (ศูนย์ลำปาง)

          เพื่อนใหม่สามารถเยี่ยมชม อนุสาวรีย์ สามบูรพาจารย์แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ที่ มธ. รังสิต เริ่มต้นจาก อนุสาวรีย์ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บริเวณ หน้าตึก SC , อนุสาวรีย์ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ บริเวณหน้ายิม 2 , อนุสาวรีย์ศ.ดร.สัญญา ธรรมศักดิ์ บริเวณลานกว้างตึก SC ด้านหน้าอาคารนิติศาสตร์ เชื่อมต่อกับอาคารพาณิชศาสตร์และการบัญชี ทั้งสามท่านล้วนแล้วแต่มีคุณูปการอย่างสำคัญต่อธรรมศาสตร์ทั้งในฐานะผู้ก่อตั้ง และผู้พัฒนามหาวิทยาลัยจนเจริญก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน

          มีให้เลือกหลากหลาย เช่น หอพักเอเชี่ยนเกมส์ Zone B,C,E โดยเป็นห้องพักแบบ 2 ห้องนอน 4 เตียง พัก 4 คน ขนาดพื้นที่ 70 ตรม. และห้องพักเดี่ยว พักได้ 2 คน ขนาดพื้นที่ 35 ตรม.ภายในห้องประกอบด้วย เตียงนอน โต๊ะหัวเตียง โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องตรวจจับควันไฟ สัญญาณโทรศัพท์สายตรง ADSL ในราคาพิเศษ สัญญาณจานดาวเทียม 64 ช่อง ราวตากผ้า ลานซักล้าง แยกเฉพาะเป็นสัดส่วน โซฟารับแขกและ โต๊ะรับประทานอาหาร 4 ที่นั่งในห้องโถง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกภายนอกห้องพัก เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ ไมโครเวฟ เครื่องทำน้ำร้อน-น้ำเย็น เครื่องกรองน้ำ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ฟรีอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ลิฟต์โดยสาร

          หอพัก TU-DOME โดยนักศึกษาสามารถเข้า – ออก หอพักได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยความปลอดภัยผ่านระบบ Access Control โดยใช้ Key Card สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักครบครันเหมือนหอพักในทุกประการ นักศึกษาที่พักอาศัยในหอพักทียูโดม สามารถเดินทางไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้อย่างสะดวก โดยเดินข้ามสะพานลอยไปต่อรถบริการ NGV ที่บริการฟรี ซึ่งวิ่งอยู่ในตัวมหาลัยและนั่งไปถึงคณะต่างๆ ได้เลย ในเวลาค่ำที่รถ NGV เริ่มน้อย นักศึกษาก็ยังสามารถนั่งรถสองแถวที่มีค่าบริการเพียง 4 บาท ตลอดสาย

          ยังมีหอพักในให้เลือกอีกหลายแบบ เช่น หอพักคู่โดม หอพักเคียงโดม หอพักโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้รับการยกย่องว่า “มีหอพักในจำนวนมากที่สุดในประเทศถึง 7,000 ยูนิต” ให้การบริการด้วยระบบ One Stop Service อาทิ การย้ายห้องพัก สับเปลี่ยนห้องพัก การแจ้งซ่อม พร้อมทั้งได้รับการยกย่องเรื่อง งานรักษาความปลอดภัย งานรักษาความสะอาด งานระบบวิศวกรรม และภูมิทัศน์

          ขณะที่รอบข้างหอพักยังพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น โรงอาหารทิวสน อาคาร Inter Zone ร้านค้า ร้านหนังสือ ร้าน 7/11 (3 แห่งรอบๆ หอพัก) ร้านรับซ่อมคอมพิวเตอร์ ร้านซัก อบ รีด ในราคาสวัสดิการ จำนวน 6 ร้าน (อาคาร A2, B3, B7, C1, C5, C10) และติดตั้งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญทุกอาคาร อาคารละ 3-4 เครื่อง ตู้เครื่องดื่มหยอดเหรียญใต้หอพักทุกแห่ง ตลาดนัด สวนสาธารณะไว้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีห้องเรียนขนาดความจุสูงสุด 3,000 ที่นั่ง พร้อมห้องเรียนขนาดต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 1,000 ห้อง โดยทุกห้อง มีอุปกรณ์สำหรับจัดการเรียนการสอนครบครัน นักศึกษาปีหนึ่งซึ่งเข้ามาใหม่ มักถูกจัดตารางให้เรียนวิชาพื้นฐานร่วมกับเพื่อนใหม่จากทุกคณะ ในวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยเช่น TU100 วิชาพลเมือง, TU120 วิชาว่าด้วยความรู้ทางสังคมศาสตร์ วิชาเหล่านี้ถูกกำหนดให้เรียนที่ อาคารเรียนรวม หรือที่เรียกติดหูกันว่า “ตึก SC” ภายในยังมีร้านค้า ร้าน7/11 ห้องคอมพิวเตอร์หลายร้อยเครื่องพร้อมบริการ Print ฟรี  ร้านถ่ายเอกสาร ห้องพยาบาล ไว้คอยบริการ

          คณะทางสังคมศาสตร์หลายคณะประจำอยู่ที่ตึก SC แห่งนี้ เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี คณะสังคมสงเคราะห์ คณะวารสารศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ 

          อีกอาคารที่จัดได้ว่า สวยงาม กว้างขวาง คือ อาคารบรรยายเรียนรวม 4 (บร.4) ซึ่งจุคนได้จำนวนหลายพันคน ถูกใช้เรียนในวิชา TU130 สหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริเวณดังกล่าวเป็นที่รวมของคณะสายวิทยาศาสตร์ของธรรมศาสตร์

          อีกอาคารซึ่งถือได้ว่า ถูกจัดผังอย่างเป็นระบบ คือ กลุ่มอาคารคณะสายสุขศาสตร์ ทั้งหมด เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งถูกจัดผังให้ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อให้ง่ายต่อการฝึกงาน และเรียนรู้ชีวิตของการทำงานด้านสุขศาสตร์อย่างเต็มตัว

ศูนย์บริการฯ เปิดให้บริการ สนามกีฬาซึ่งประกอบไปด้วย

         สนามฟุตบอล (สนามธรรมศาสตร์ รังสิต) มาตรฐานเอเชียน เกมส์ พร้อมสำหรับจัดการแข่งขันกีฬาแบบครบวงจร ด้วยลู่วิ่งยางสังเคราะห์ จำนวน 9 ช่องวิ่ง สำหรับเล่นและแข่งฟุตบอล กรีฑา และกีฬากลางแจ้งอื่นๆ พร้อมไฟฟ้าส่องสว่างระดับมาตรฐาน ด้วยความจุผู้ชม 25,000 ที่นั่งพร้อมอัฒจันทร์รอบสนาม ปัจจุบันถูกใช้เป็นสนามแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ซึ่งนักศึกษา มธ. ได้รับสิทธิ์ดูฟรีทุกนัดการแข่งขัน ขณะที่ด้านหน้าของสนาม บริเวณลานพญานาค ยังมีการจัดกีฬาแอโรบิค ในทุกวัน

         มินิสเตเดี้ยม(สนามหอพักเอเชี่ยนเกมส์) สนามกีฬากลางแจ้งระดับมาตรฐานพร้อมลู่วิ่งยางสังเคราะห์จำนวน 8 ช่องวิ่ง หรือทำการแข่งขันทั้งฟุตบอล กรีฑา หรือกีฬากลางแจ้งอื่น ๆ ก็สะดวกสบายด้วยอัฒจรรย์ที่พร้อมรองรับผู้ชมกว่า 1,500 คน ทุกเย็นสนามหอพักเอเชี่ยนเกมส์จะเต็มไปด้วยนักศึกษาที่แวะมาออกกำลังกาย ซ้อมเชียร์ เตะบอล และทำกิจกรรมต่างๆ

          อาคารยิมเนเซียม  โรงยิมเนเซียมขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ บนพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร พร้อมด้วยสนามแบดมินตัน จำนวน 10 สนาม และมีอัฒจันทร์รองรับได้ประมาณ 3,000 คน,อาคารยิมเนเซียม บนพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร พร้อมปรับเป็นสนามวอลเลย์บอล 2 สนาม สนามเทเบิลเทนนิส 10 โต๊ะ และมีอัฒจันทร์นั่งชม รองรับได้ประมาณ 3,000 คน ,อาคารยิมเนเซียม 6 บนพื้นที่ 1,400 ตารางเมตร ตามปกติทั่วไปจะปรับเป็นสนามฟุตซอล สนามเซปักตะกร้อ และมีอัฒจันทร์นั่งชม รองรับได้ประมาณ 4,000 คน ,อาคารยิมเนเซียม 7 บนพื้นที่ 2,200 ตารางเมตร สามารถเล่นและแข่งขันกีฬาได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน เช่น บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส ฟุตบอลในร่ม และมีอัฒจันทร์นั่งชม รองรับได้ประมาณ 500 – 1,000 คน บริเวณรอบๆ ยิมเนเซียม 7 ยังมีสนามเปตอง และสนามมวยขนาดใหญ่

          TU@Fitness” Fit Firm Fun Fitnees มาตรฐานด้วยอุปกรณ์การออกกำลังกายทั้ง ลู่วิ่งไฟฟ้า เครื่องซิทอัพ จักรยานไฟฟ้า ทั้งในแบบนั่งปั่นหรือเอนปั่น โฮมยิม  ม้าบาร์เบลให้คุณเลือกกระชับได้เฉพาะส่วน พร้อมกับฝึกสอนกีฬาโยคะ fitness แห่งนี้ตั้งอยู่ภายในสระว่ายน้ำ พื้นที่กว้างขวาง สะดวก สบาย

         สนามเทนนิส TUSPORTS  ด้วยสนามเทนนิสในแบบ ฮาร์ทคอร์ด ( Hard Court) จำนวน 9 สนาม สามารถเล่นและแข่งขันได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีสถานที่เฉพาะสำหรับฝึกหัดตี ( Knock Board) สำหรับสนามกลาง ( Center Court) จะมีอัฒจันทร์รองรับผู้ชมได้ ประมาณ 500 คน

         TUSPORTS AQUTIC รองรับทุกกิจกรรมกีฬาทางน้ำ ด้วยสระว่ายน้ำมาตรฐานต่างๆ ในร่มที่พร้อมบริการ ทุกสระมีระบบปรับอุณหภูมิของน้ำได้ มีสกอร์บอร์ดขนาดใหญ่พร้อมระบบจับเวลา ใช้สำหรับแข่งขันว่ายน้ำ โปโลน้ำ ระบำใต้น้ำ อัฒจันทร์รองรับผู้ชมได้ประมาณ 4,600 คน

          กีฬาปีนผา ด้วยหน้าผาจำลองที่สูงที่สุดในประเทศไทย เปิดให้บริการวัน จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 16.00 น. – 20.30 โดยที่ค่าบริการ จะรวมถึงค่าเช่าอุปกรณ์ในกีฬาปีนหน้าผาแล้ว ทั้งรองเท้า, Harness, เชือก และอุปกรณ์ต่างๆที่ครอบคลุมสำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์ คิดค่าบริการ 20 บาท/คน/วัน   สำหรับบุคคลทั่วไปคิดค่าบริการ 100 บาท/คน/วัน(เสียค่าบริการรอบเดียว จะปีนกี่รอบก็ได้)

          ทั้งหมดนี้ “ทำให้คุณ พบกับความสมบูรณ์แบบของศูนย์กีฬาครบวงจร” ที่ ถือว่า ใหญ่ที่สุดและพร้อมที่สุดในประเทศไทย มาตรฐานเอเชียนเกมส์ กับทุกบริการด้านกีฬาพร้อมเปิดให้บริการสำหรับหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนทั่วไป

         แห่งแรกคือ Thammasat Conventional Park (TUC park) หรือ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต โดยตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 120 ไร่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตติดถนนพหลโยธิน พรั่งพร้อมด้วยความเขียวขจีของสภาพแวดล้อมที่รายรอบด้วยแนวคิดของ “คอนเวนชั่นปาร์ค”  สามารถรองรับงานต่าง เช่น บริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ คอนเสิร์ต งานแต่งงาน จัดงานประชุมสัมมนา จัดนิทรรศการ งานกีฬา ปัจจุบัน TUC park มีความพร้อมต่อการเป็นศูนย์กลางของการสอบทุกประเภท

          ด้านหน้าของหอประชุมแห่งนี้ ยังมีแผงตัวอักษรขนาดใหญ่เรียงรายต่อกัน ข้อความว่า “Thammasat For People” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักศึกษาที่พึ่งเรียนจบ ไปเข้าคิวถ่ายภาพ และเป็นจุดสำคัญจุดใหม่ของมหาวิทยาลัยที่ใครๆ เมื่อมาถึง มธ.รังสิต ต้องมาถ่ายภาพ

          แห่งที่สองคือ TU Park สวนสวยบนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ถูกจัดเป็นเวทีกลางแจ้งสำหรับการจัดงานทุกประเภท นับตั้งแต่การจัดงานสังสรรค์และนิทรรศการกลางแจ้ง การแข่งขันกีฬา วอล์คแรลลี่ งานวิวาห์ รวมถึงการจัดคอนเสิร์ต การเปิดตัวสินค้า พร้อมหมู่อาคารริมสระน้ำที่มีทางเดินเชื่อมตลอดถึงกันรองรับการจัดการมหกรรมอาหาร และสินค้าชั้นนำ

         แห่งที่สาม อาคารยิมเนเซียม 2 ปัจจุบันปิดปรับปรุงภายหลังถูกใช้เป็นศูนย์อพยพสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ในอนาคตจะถูกพัฒนากลายเป็นศูนย์ประชุมรองรับการแสดงของวงดนตรีออร์เคสตรา ขนาดเต็มวง และถูกแบ่งพื้นที่บางส่วนจัดสร้าง โรงละคอนขนาดใหญ่ รองรับการจัดแสดงละครเวทีของ นักศึกษา มธ.รังสิต ซึ่งมีการจัดแสดงอยู่เป็นระยะ

         เป็นกลุ่มอาคารที่ถูกสร้างขึ้นในโอกาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบการสถาปนาปีที่ 50 ในปี 2527 ต่อมาในปี 2542 มหาวิทยาลัยก็เห็นควรสร้างอาคารหอพระและอาคารอเนกประสงค์ในบริเวณเดียวกัน ปัจจุบันเปิดให้ นักศึกษา และบุคคลากรของธรรมศาสตร์ รวมถึงประชาชนในชุมชนใกล้เคียง เข้าร่วมทำบุญ สวดมนต์ ไหว้พระ วิปัสนา กรรมฐาน ทั้งในวันพระ รวมถึงเปิดให้เวียนเทียนในเทศกาลสำคัญต่างๆ ทางศาสนา

         แห่งแรกคือ TU DOME โดยภายในมีศูนย์อาหาร ร้านอาหารชั้นนำต่างๆ อาทิ MK, YAYOI, KFC, S&P, AMAZON ร้านค้าต่างๆ อาทิ WATSON, 7-11, ร้านอินเตอร์เน็ท, ร้านหนังสือ, ร้ายจำหน่ายเสื้อผ้า, ร้านซ่อมและจำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ, ร้านทำผม, ร้านซักรีด และ POST OFFICE

         แห่งที่สอง คือ อาคารอินเตอร์โซน ภายในประกอบไปด้วย ห้องเธียร์เตอร์ ความจุ 320 ที่นั่ง ห้องอบรมสัมมนา ความจุ 60 – 120 คน สถานที่จัดงานเลี้ยงสังสรรค์อาคารยิมเนเซี่ยมอินเตอร์โซน ความจุ 3,000 ที่นั่ง และลานกิจกรรมอเนกประสงค์ สำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง ตกค่ำจะมีการจัดตลาดนัดอินเตอร์โซน เพื่อให้ผู้พักอาศัยได้จับจ่ายของกินของใช้ได้อย่างสะดวกสบาย เปิดบริการทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 16:00 น – 21:30 น.

         ท็อปส์ เดลี่ มินิซุปเปอร์มาเก็ต สาขา ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต จะครอบคลุมทุกความต้องการของนักศึกษา อาจารย์ และลูกค้าทั่วไป ตั้งอยู่บริเวณถนนยูงทองภายในมหาวิทยาลัย เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 24.00 น.

         รอบๆ อาคารอินเตอร์โซนเพียบพร้อมด้วยศูนย์บริการ และร้านค้าต่างๆ หลายประเภท อาทิ สระว่ายน้ำ ธนาคารกรุงเทพ ATM กรุงไทย กรุงเทพ ร้านอาหาร ร้านทำผม นวดแผนไทย ร้านขายหนังสือร้านเช่าหนังสือ TOT ร้านถ่ายรูป ร้านถ่ายเอกสาร ร้านแว่นตา ร้านคอมพิวเตอร์ ร้าน 7–eleven รวมถึงสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานซึ่งเปิดบริการตั้งแต่เวลา 06.30 – 21.30 น.

                 ใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีโรงอาหารหลายแห่ง ได้แก่ โรงอาหาร Green Canteen บริเวณ บร.1 ,โรงอาหาร SC (ทั้งอาคารเก่าและอาคารใหม่) , โรงอาหารคณะวิทย์ฯ , โรงอาหารคณะวิศวะฯ , โรงอาหารทิวสนโดม , โรงอาหารในกลุ่มอาคารสุขศาสตร์ , โรงอาหารในโรงพยาบาล มธ. , โรงอาหารคณะสถาปัตย์ , โรงอาหารย่อยในตึก คณะบัญชีฯ , รัฐศาสตร์ฯ , สังคมสงเคราะห์ , นิติศาสตร์ เป็นต้น โดยที่อาหารถือได้ว่า สะอาด มีคุณภาพ ราคาย่อมเยา พร้อมปริมาณที่เหมาะสม

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงต้อนรับนักศึกษาใหม่ ณ แปลงนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยที่มีการจัดกิจกรรมบริเวณแปลงนาแห่งนี้ทุกปี/ปีละสองครั้ง คือ วันดำนา และวันเกี่ยวข้าว ทั้งนี้ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ จะถูกนำไปแปรรูปเพื่อให้เพื่อนใหม่รับประทานในวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

         แห่งแรก คือ บริเวณสะพานดาว  ตรงข้าม ตึกเรียนคณะแพทยศาสตร์ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น “งานลอยกระทง” เพื่อรองรับ ชุมชนรอบธรรมศาสตร์รังสิต มีการออกร้าน จัดประกวดนางนพมาศ , “งานคอนเสิร์ต ฟังเพลงฤดูหนาว” ของคณะแพทย์ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีวงดนตรีทุกแนวทั้ง ป๊อป ร๊อค สกา เร้กเก้ เวิลด์มิวสิก และเพลงลูกทุ่งคอยจัดแสดง

          แห่งที่สอง คือ สวนสาธารณะ 80 ธรรมศาสตร์ โดยสวนดังกล่าวมีไฮไลต์คือ ลานประติมากรรม 80 ธรรมศาสตร์ และมีเส้นทางเดินให้ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อยใจ สำคัญคือ ระบบไฟฟ้าในสวนแห่งนี้ทั้งหมด จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาเซลล์ที่ถูกติดตั้ง บริเวณหลังคาของที่นั่งพักในสวนสาธารณะนั่นเอง

          แห่งที่สาม คือ กระท่อมชาญี่ปุ่น พร้อมสวนขนาดใหญ่ ซึ่งซ่อนอยู่ในสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา (Institute of East Asian Studies) ที่บรรยากาศโดยรอบตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น เพื่อใช้จัดการสาธิต “พิธีชงชาแบบญี่ปุ่น” ในปัจจุบันจะเปิดให้เฉพาะหน่วยงานต่างๆ สำหรับการจัดประชุม อบรม สัมมนา และห้องพัก ด้วยความพร้อมทางด้านกายภาพที่มีการออกแบบภายในอาคารโดย คำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยเป็นหลัก มีโสตทัศนูปกรณ์ และจุดเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตไว้บริการอย่างครบครัน

                   โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศักยภาพในการให้บริการรักษาพยาบาลครบทุกสาขา บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 – 3,000 คน และรองรับผู้ป่วยในได้ 601 เตียง สำหรับในอนาคตจะทำการขยายบริการผู้ป่วยในเป็นขนาด 750 เตียง นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังให้บริการรักษาพยาบาล แก่ผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในแต่ละปีอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง “ศูนย์เลสิกธรรมศาสตร์” ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นศูนย์รักษาตาอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

แห่งแรก คือ ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นเป็นศูนย์บริการแบบ one stop service  ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปิดให้นักศึกษา สามารถเข้ารับคำแนะนำต่างๆ จากเจ้าหน้าที่แนะแนว มีห้องให้คำปรึกษาเรื่องทุนการศึกษาและปัญหาชีวิต เป็นตึกซึ่งรวมเอาทุกกิจกรรมของมหาลัยไว้ ตั้งแต่งานอาสาสมัคร  งานบริการหอพัก ขณะที่ชั้นสอง/ชั้นสาม จัดเป็นห้องติวหนังสือ ลานให้ทำกิจกรรม โซนนิทรรศการ พร้อมโต๊ะให้อ่านหนังสือจำนวนหลายพันที่นั่ง

แห่งที่สอง คือ ตึกกิจกรรมนักศึกษา  ซึ่งเป็นที่ทำการของ อมธ.,สภานักศึกษา และชุมนุม ชมรม กลุ่มกิจกรรมอิสระของนักศึกษา รวมไปถึงศูนย์อาสาสมัคร มธ. ทั้งยังมีพื้นที่ส่วนกลางคอยให้บริการ เช่น ลานอเนกประสงค์รองรับคนได้มากกว่า 1,000 คน ,ห้องประชุมใหญ่ ขนาด 80 ที่นั่งรองรับกิจกรรมการประชุมสัมมนา เสวนา พร้อมระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์เชื่อม มธ. ทั้งสามศูนย์ , ลานซ้อมเต้น , ห้องซ้อมดนตรี , ห้องประชุมเล็กรองรับได้ 60 ที่นั่ง , ห้องสมุดนักกิจกรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่รณรงค์ ส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมระหว่างเรียน เพื่อให้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 4 ปี ไม่ใช่เพื่อการมาเรียนแต่อย่างเดียว แต่คือการทำกิจกรรมเพื่อประชาชน และเรียนรู้ชีวิต โดยมีกลุ่มกิจกรรม ชุมนุม ชมรมให้เลือกสังกัด มากกว่า 150 กลุ่ม เช่น ชุมนุมขับร้องประสานเสียง (TU Chorus),ชุมนุมกองสันทนาการ,ชุมนุมดนตรีโฟล์คซอง (TU Folksong),ชุมนุมโขนธรรมศาสตร์,ชุมนุมเชียร์และแปรอักษร,ชมรมดนตรีไทย , TU Symphony Orchestra , TU Band , ชุมนุมปาฐกถาและโต้วาที เป็นต้น ทั้งนี้นักศึกษาสามารเลือกเข้ากลุ่มต่างๆ ได้ในตอนเริ่มเทอม 1 ของแต่ละปี

          นักศึกษาใหม่ สามารถขึ้นรถตู้ตรงสู่ ธรรมศาสตร์ รังสิต ได้สามจุดต่อไปนี้ ท่ารถตู้หมอชิต (รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีจตุจักร ขึ้นประตู 4),ท่ารถตู้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2 จุด (จุดแรก อยู่ใต้สะพาน BTS ใกล้ร้านก๋วยจั๊บ และจุดที่สอง บริเวณเยื้องโรงบาลราชวิถี) และท่ารถตู้มธ.ท่าพระจันทร์ (อยู่ตรงร้านกาแฟตรงประตูสนามหลวง)  

          และรถเมล์ประจำทางดังนี้ สาย 29 รังสิต หัวลำโพง (สังเกตหน้ารถต้องมีป้าย ม.ธรรมศาสตร์รังสิต) , สาย 39 ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต อนุสาวรีย์ , สาย 510 รังสิต อนุสาวรีย์ (สังเกตที่หน้ารถ จะต้องมีป้ายไป ตลาดไท)

          การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย สามารถเดินทางได้หลายรูปแบบเช่น รถก๊าซ NGV ซึ่งบริการฟรีตลอดเส้นทาง และบริการรับ-ส่ง หลายเส้นทางครอบคลุมทุกพื้นที่ ของมหาวิทยาลัยฯ, รถสองแถว อัตราค่าบริการ  4 บาทตลอดเส้นทาง

Skip to content