Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แนะ ‘ครอบครัว’ สังเกต 5 อาการเสี่ยง ‘ซึมเศร้า’ ของแม่หลังคลอด

แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แนะ ‘ครอบครัว’ สังเกต 5 อาการเสี่ยง ‘ซึมเศร้า’ ของแม่หลังคลอด

Perspective 9 ส.ค. 2567
หน้าหลัก Perspective แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แนะ ‘ครอบครัว’ สังเกต 5 อาการเสี่ยง ‘ซึมเศร้า’ ของแม่หลังคลอด

แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ระบุ นอนน้อย-นอนมาก-การกินเปลี่ยน-เก็บตัวเอง-ไม่เลี้ยงลูก สัญญาณเตือนภาวะอารมณ์เปลี่ยน-ซึมเศร้าหลังคลอดบุตร แนะครอบครัวสังเกตอาการ

     รศ. พญ.จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์ อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์  ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังคลอด (Postpartum Blue) และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) สามารถเกิดขึ้นได้หลังการคลอดบุตร โดยภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังคลอดเป็นภาวะที่พบเจอได้บ่อย ประมาณ 40-50% ของผู้หญิงหลังคลอด โดยอาจเกิดเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ และจะสามารถหายได้เอง

     ขณะเดียวกัน ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการรุนแรงกว่า และพบได้น้อยกว่า ประมาณ 15-20% ของผู้หญิงหลังคลอด ซึ่งทั้ง 2 อาการนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

     รศ. พญ.จรินทร์ทิพย์ กล่าวว่า อาการที่หญิงหลังคลอด ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดต้องสังเกตเพื่อเฝ้าระวังภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้น ประกอบด้วย 5 ข้อสำคัญ ได้แก่ 1. นอนน้อย นอนไม่หลับ 2. นอนมากเกินไป 3. การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 4. การแยกตัวเอง เก็บตัวเอง แอบร้องไห้ และ 5. ปฏิเสธการเลี้ยงดูบุตร

     อย่างไรก็ดี ควรจะต้องมีการสนับสนุน ประคับประคองจากคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด สำหรับช่วยดูแลบุตรเพื่อให้หญิงหลังคลอดพักผ่อน และไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เครียดต่อเนื่องกัน รวมถึงควรสังเกตพฤติกรรมของหญิงหลังคลอดว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งหากสังเกตพบควรจะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัว จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพราะบางรายมีอาการรุนแรงจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด นำไปสู่ความต้องการที่จะทำร้ายตัวเอง และยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเลี้ยงดูบุตรด้วย

     ฉะนั้น ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดเองควรจะต้องทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน เพราะภาวะอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงหลังคลอดทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความพร้อมในการมีบุตร เนื่องจากมีความคาดหวังว่าจะต้องเลี้ยงดูบุตรให้ดี หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถทำได้ดี เช่น น้ำนมไม่ออก ให้นมบุตรไม่ได้ อาจทำให้เกิดการโทษตัวเองของผู้เป็นแม่ได้

     “ภาวะเช่นนี้ มีผลต่อคุณแม่ในเรื่องสุขภาพ แต่ก็กระทบกับลูกเช่นกัน บางคนก็มีพื้นฐานที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อยู่แล้ว พอตั้งครรภ์ก็อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น ไม่ยอมกินข้าว เหม่อลอย ทำให้ลูกอาจจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ หรือคลอดก่อนกำหนด ถ้ามีอาการหลังคลอดอาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูก ไม่ยอมให้นมลูก ไม่ยอมกินอาหารที่มีประโยชน์ บางคนมีอาการรุนแรงจากการเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อยากทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายลูกก็มี” รศ. พญ.จรินทร์ทิพย์ ระบุ


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content