Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พยากรณ์ ‘เอลนีโญ-ลานีญา 2024’ รุนแรงขึ้น อาจารย์ มธ. แนะภาครัฐเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

พยากรณ์ ‘เอลนีโญ-ลานีญา 2024’ รุนแรงขึ้น อาจารย์ มธ. แนะภาครัฐเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

Perspective 12 ก.ค. 2567
หน้าหลัก Perspective พยากรณ์ ‘เอลนีโญ-ลานีญา 2024’ รุนแรงขึ้น อาจารย์ มธ. แนะภาครัฐเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

วิเคราะห์สถานการณ์เอลนีโญ–ลานีญา ในปี 2024 และคำแนะนำจากอาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     พูดคุยกับ ผศ. ดร.จุฑาศินี ธัญปราณีตกุล สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ว่าคืออะไร? ผลกระทบและแนวทางการเตรียมรับมือของภาครัฐ และภาคประชาชน

ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ คืออะไร?

     เอลนีโญ-ลานีญา สองปรากฏการณ์นี้ คือ ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ มักเรียกรวมว่า ENSO: El Nino Southern Oscillation ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำอุ่นที่อยู่บนผิวของมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดย ลมค้า (Trade wind) บริเวณระหว่างทวีปอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปออสเตรเลีย ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทร คือประเทศ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลียตอนเหนือ รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝั่งตะวันออกคือประเทศเปรู เอกวาดอร์และโคลัมเบีย

     ลมค้า (trade wind) ในภาวะปกติ จะพัดกระแสน้ำอุ่น ที่ลอยอยู่ชั้นบนของมหาสมุทร คล้ายเป่าลมที่ผิวน้ำในแก้วเบา ๆ พัดมายังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ออสเตรเลียตอนเหนือ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย มีฝนตกปกติตามฤดูกาล ส่วนฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณชายฝั่งประเทศเปรูก็จะมีกระแสน้ำเย็นจากชั้นล่าง พัดพาสารอาหารจากข้างใต้มหาสมุทรขึ้นมาอย่างพอเหมาะทำให้มีปลามาก ดีต่อการทำประมง

     ปรากฏการณ์ เอลนีโญ คือ การที่ลมค้าอ่อนกำลังลง กระแสน้ำอุ่นไม่ถูกพัดไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จะปกคลุมอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักอาจมีน้ำท่วมได้ ส่วนฝั่งตะวันตกนั้นมีกระแสน้ำเย็นที่อยู่ข้างใต้แทรกขึ้นมาแทนที่ ทำให้เกิดความร้อนและแห้งแล้ง ไฟป่าจึงเกิดง่ายในช่วงนี้

     ปรากฏการณ์เอลนีโญยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไปทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะมีสภาพอากาศอบอุ่นผิดปกติในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ เช่น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้, ญี่ปุ่น, อลาสกาตอนใต้และแคนาดาตะวันตก/ตอนกลาง, บราซิลตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียตะวันออกเฉียงใต้ สภาพอากาศอุ่นกว่าปกติในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมตามชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาใต้และบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล สภาพอากาศเย็นกว่าปกติในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ตามชายฝั่งอ่าวของสหรัฐอเมริกา

     ส่วนเหตุการณ์ตรงกันข้าม คือ ลานีญา เกิดจากลมค้าพัดแรงกว่าปกติ พัดกระแสน้ำอุ่นมาทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวนมาก ทำให้บริเวณนี้ มีฝนตกหนัก มักเกิดอุทกภัย และทำให้กระแสน้ำเย็นแทรกตัวขึ้นมาบริเวณฝั่งตะวันออกของมหาสมุทร ทำให้แถวประเทศเปรู เอกวาดอร์และโคลัมเบีย เกิดความแห้งแล้งขึ้นได้

     จะเห็นว่า ความแรงของลม มีผลต่อปรากฏการณ์ ENSO ดังนั้นการเคลื่อนตัวของมวลอากาศหรือลม จึงสำคัญมาก โดย ‘ลม’ เกิดจากความต่างของความกดอากาศ ถ้าความกดอากาศต่างกันมาก ลมก็จะพัดแรงมากขึ้น แรงมาก ๆ ก็เรียกว่าพายุ ซึ่งความกดอากาศที่ต่างกันเกิดจากอุณภูมิพื้นผิว

     “ปัจจุบันภาวะโลกร้อน (โลกเดือด) ทำให้พื้นผิวมีอุณหภูมิต่างกันมากขึ้นหรือลดลง เช่น พื้นผิวทะเลก็มีอุณภูมิสูงขึ้น สิ่งนี้ล้วนมีส่วนทำให้สภาพอากาศแปรปรวน หรือบางคนเรียก โลกรวน” ผศ. ดร.จุฑาศินี กล่าว

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของปรากฏการณ์ เอลนีโญ – ลานีญา

     องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ได้บันทึกการเกิด El Ninyo (ตัวสีแดง) La Ninya (ตัวสีน้ำเงิน) ตั้งแต่ ค.ศ. 1950 โดยใช้ ONI (Oceanic Nina Index) คิดจาก anomaly Sea Surface Temp: SST พบว่า ที่ผ่านมารูปแบบ ENSO ในปัจจุบัน แสดงความแตกต่างหลายอย่างจากบันทึกในอดีต เช่น ความรุนแรงที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะทางพื้นที่เกิดที่ขยับมาบริเวณกลางมหาสมุทร และระยะเวลาที่ติดต่อกันนานกว่าเดิม

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://origin.cpc.ncep.noaa.gov/products/analysis_monitoring/ensostuff/ONI_v5.php

          เนื่องจากเรื่องอากาศและกระแสน้ำเป็นอะไรที่ซับซ้อนยังไม่มีผลการวิจัยระบุที่แน่ชัด แต่มีการตั้งข้อสังเกต คือ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาวะโลกร้อนที่มีผลต่ออุณหภูมิพื้นผิวของโลกในที่ต่าง ๆ จึงทำให้ความกดอากาศแตกต่างกัน กระแสลมจึงแปรปรวนไป บวกกับความชื้นในอากาศที่มากขึ้น เนื่องจากโลกร้อนทำให้มีการระเหยของน้ำขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ความรุนแรงของฝนจึงมากขึ้น คล้ายฝนไล่ช้าง กล่าวคือเกิดฝนในระยะสั้นแต่มีความรุนแรง

          ทั้งนี้ การตกของฝนในประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับลมมรสุม และปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก เช่น ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ จึงยังไม่สามารถสรุปแยกรายจังหวัดได้ ปรากฎการณ์นี้ทำให้เห็นในภาพรวมเท่านั้น

          และในช่วงมิถุนายนนี้กำลังเปลี่ยนผ่านจาก เอลนีโญ เข้าสู่สถานะเป็นกลางในเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม และเดือนสิงหาคม เริ่ม ลานีญา อาจยาวถึงช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 โดยความเป็นไปได้สูงสุด 85% ที่จะเกิด ลานีญา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง มกราคม และสังเกตุจากข้อมูลได้ว่า หลังเกิด เอลนีโญ แรง ๆ จะเกิด ลานีญา ตามมาเสมอ โดยทุกท่านสามารถเข้าเว็บ CPC (Climate prediction center) เพื่อติดตามสถานการณ์ของปรากฎการณ์ ENSO ได้เอง

ข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ ควรโฟกัสและเตรียมรับมืออย่างไร ?

          “ส่วนตัวคิดว่าควรโฟกัสที่ การปรับตัวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (adaptation) เพราะในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จนถึงต้นปี 2567 นี้ ซึ่งเป็นช่วงปรากฏการณ์ เอลนีโญ และกรมอุตุนิยมวิทยาโลกแจ้งว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทุกเดือนสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปแล้ว”

     การลดการเรือนกระจก (หรือ Mitigation) นั้นสำคัญ และยังต้องทำต่อไป แม้ว่าเราจะยับยั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันไม่ทัน แต่เราต้องทำเพื่อชะลอไม่ให้สถานการณ์แย่ไปกว่านี้ และส่วนของ road map สู่ Net Zero ของภาครัฐนั้นก็ได้มีมาตรการและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน มีการกำหนดให้จัดทำรายงาน NDCs (การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions) รวมถึงภาคเอกชนก็ขยับกันมาก SMEs และภาคประชาชนเองก็มีแนวทางการลดการเรือนกระจกให้ปฏิบัติตาม

     การปรับตัวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดถี่ขึ้นและหนักขึ้นต่อไปนี้ ต้องโฟกัสไปที่ NAP (Thailand’s National Adaptation Plan) หรือ แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้ง 6 สาขา คือ สาขาการจัดการน้ำ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยว การเกษตร สาธารณสุข ตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์

     แนวทางการรับมือของภาครัฐกับปรากฏการณ์ เอลนีโญ-ลานีญา ผศ. ดร.จุฑาศินี เสนอว่าควรมุ่งไปที่ M หรือ Management และ S การ Support

     Management คือการจัดการเงิน Climate adaptation finance ไม่ว่าจะเป็นการให้เปล่า หรือ การให้แบบมีเงื่อนไขก็ได้ แต่ต้องพิจารณาการให้อย่างรวดเร็วและทันเวลา โดยอาจมีความร่วมมือกับธนาคาร และแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ

     รัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชน ลงมาช่วยเกษตรกร หรือ SMEs ใน supply chain ขององค์กรนั้น ๆ เพราะต่อไปสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food security) และวัตถุดิบ ซึ่งกระทบต่อภาคเอกชนในด้านการผลิต ให้ภาคเอกชนช่วยสนับสนุน ส่งเสริมการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น โครงการที่ใช้แนวคิด Nature base solution นวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจ รัฐเองก็ควรมองเห็นและสนับสนุนเอกชนรายนั้น อาจใช้กลไกเรื่องการลดหย่อนภาษี เพิ่มหมวดสีเขียว หรือ สนับสนุนระบบประกันภัย เลียนแบบระบบการทำประกันสุขภาพ โดยที่เบี้ยประกันและเงินอุดหนุนจากรัฐอาจพิจารณาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากน้อยต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

     Support คือการสนับสนุนทรัพยากร บุคลากร สู่ท้องถิ่น เน้น Community Based Disaster Risk Management (CB-DRM) เป็นหลัก โดย ผศ. ดร.จุฑาศินี เสนอแนวทางดังนี้

     1) สนับสนุนทรัพยากรบุคคล จากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม) เป็นต้น เนื่องจากการจัดการภัยพิบัตินั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

     2) จัดทำ “Technical adaptation guide book ประจำตำบล” โดยต้องทราบความเสี่ยงของทุกภัยพิบัติที่มีในพื้นที่ ต้องมีแผนการ มีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการจัดการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ทุกช่วงของวงจรภัยพิบัติ คือ ก่อนเกิด ระหว่างเกิดและหลังเกิด แผนที่ความเสี่ยง ตำแหน่งบ้านผู้เปราะบาง เส้นทางการเข้าช่วยเหลือ ศูนย์พักพิงชั่วคราว ทรัพยากรพืช และสัตว์ประจำถิ่น แหล่งท่องเที่ยว มรดกทางวัฒนธรรม โรงแรม โรงเรียน วัด โรงพยาบาล โดยมีข้อมูลให้ครบรอบด้าน อีกทั้งวิธีการต่าง ๆ ในการปรับตัวที่เป็นตัวอย่าง ประยุกต์ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเหมาะสมต่อพื้นที่นั้น ๆ เสนอไว้เป็นแนวทาง อาจมีสถานศึกษาทุกระดับในพื้นที่คอยเป็นที่ปรึกษา ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับทุกคนในท้องถิ่นและให้ทุกคนมีส่วนร่วม และต้องมีการซ้อมแผนอย่างสม่ำเสมอ โดย guide book นี้ต้องมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์หน่วยงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อหลายภาคส่วน ประชาชน แม้แต่ในภาคท่องเที่ยวเอง

     3) จัดตั้ง Climate Information center แชร์เป็นข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเฝ้าระวังร่วมกันได้ พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือ เซนเซอร์ ติดตั้งให้ทั่วประเทศอย่างเพียงพอ เพื่อประโยชน์ทางด้านการเตือนภัยล่วงหน้า ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากเคยพบว่าข้อมูลในบางพื้นที่ขาดแคลนหรือชำรุด ทำให้ไม่สามารถได้ข้อมูลระยะยาวและต่อเนื่องเพียงพอ ต่อการนำมาคาดการณ์โดยแบบจำลองได้ หากไม่มีข้อมูลย่อมนำมาวางแผนออกนโยบายต่อไปไม่ได้

     นอกจากนี้ ผศ. ดร.จุฑาศินี ยังได้เสนอแนวทางให้กับ ภาคเกษตรกร และภาคประชาชน ในการปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

     ภาคเกษตรกร ต้องไม่ใช้สารเคมี มุ่งเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน เกษตรกรขนาดกลางและขนาดเล็ก ควรใช้หลัก วนเกษตร (Agroforestry) สมดุลธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศกลับมา เตรียมพื้นที่ปลูกพืช พื้นที่ป่าและพื้นที่เก็บน้ำให้เหมาะสม เลือกพันธุ์พืชและสัตว์ที่เลี้ยงให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ ถ้าเกษตรกรขนาดใหญ่ ควรเป็นเกษตรแม่นยำ หรือเกษตรแบบประณีต (Precision agriculture) ใช้เทคโนโลยี IoTs (Internet of Things) มาช่วยในการเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ต้นทุน ปุ๋ย น้ำ ให้ตรงจุดและใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่รบกวนสภาพแวดล้อมโดยรอบ ส่งเสริมรักษาระบบนิเวศโดยรอบ เช่น การสละพื้นที่ฟาร์มบางส่วน กันเป็นแนวป่า แนวลำน้ำ พืชริมน้ำและดูแลระบบนิเวศพืชและสัตว์และแมลงในธรรมชาติ จะทำให้ฟาร์มได้ผลผลิตที่ดีอย่างยั่งยืนสมดุล

     และในส่วนของ ภาคประชาชน ต้องช่วยในส่วนของการลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนธุรกิจสีเขียว ที่มีกระบวนการผลิตและจำหน่าย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างยั่งยืน และต้องดูดี ๆ ระวังบริษัทที่ฟอกเขียว (Greenwashing) คือ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบ

     ที่สำคัญคือ ช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ มากมาย เริ่มจากสิ่งง่าย ๆ รอบตัวเราก่อน เช่น การแยกขยะ ไม่ใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ปฏิเสธหลอดและช้อนแก้วน้ำพลาสติก เลือกกินอาหารในท้องถิ่น ลด food waste ประหยัดไฟ ไม่ใช้ของที่มีอายุสั้น Fast fashion ฯลฯ

ทิ้งท้าย

     “หลายคนอาจคิดว่า เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง การกระทำของเราอาจไม่เห็นผลที่ดีขึ้นในทันที แต่สามารถสร้างผลกระทบต่อโลกในอนาคตได้แน่นอน ดั่งปรากฎการณ์ Butterfly effect (ผีเสื้อขยับปีก) หรือ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว คือ การที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะส่งผลทำให้เกิดปรากฏการณ์อื่นได้ในอนาคต เช่น การกระทำของเราทุกคนจะทำให้ก๊าซเรือนกระจกไม่เพิ่มขึ้นไปกว่านี้ โลกก็จะไม่รวน ซึ่งเป็นการดูแลโลกที่แสนสวยงามของเรา เพื่อจะส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้สัมผัสความสวยงามนี้บ้าง”


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content