แรกพบเพื่อนใหม่ ‘TU90’ TU Universe: Merging of the Galaxies ‘จักรวาลแห่งเสรีภาพ’
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแรกพบเพื่อนใหม่ TU90 ต้อนรับนักศึกษาใหม่เข้าสู่รั้วแดนโดม ดินแดนแห่งเสรีภาพ พร้อมเวที Exclusive Talk จาก 3 แขกรับเชิญสุดพิเศษ
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “แรกพบเพื่อนใหม่ 90” ณ อาคารกิติยาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่จากทุกคณะ ทุกวิทยาลัย ทั้ง 4 ศูนย์ ภายใต้แนวคิด TU Universe: Merging of the Galaxies ภายในงานยังได้มีการจัดเวที Exclusive Talk Special Guests จากแขกรับเชิญ 3 ท่าน ที่มาร่วมพูดคุยในประเด็น “สังคม เศรษฐกิจ การเมือง: สามมุมมองต่อการพัฒนาเยาวชนสู่สังคมโลก” ร่วมกับนักศึกษา การแสดงละครจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ยินดีต้อนรับนักศึกษาใหม่ทุกคนเข้าสู่ช่วงชีวิตที่จะสนุกและมีสีสันมากที่สุด ซึ่งการก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่นนั้นไม่ใช่เพียงการที่มีอายุครบ 18 ปีเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ตนจึงอยากชวนนักศึกษาทุกคนมาใช้ชีวิตวัยรุ่นให้ ‘สุด’ ใน 3 ด้าน 1. อยากให้ทุกคนตั้งใจที่จะเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดในรั้วมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมให้เต็มที่ และใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ ทำความรู้จัก เข้าใจ และรับฟังกับเพื่อนใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย
2. อยากให้ค้นหาตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเรียนรู้ หรือเล่นกิจกรรม ก็เลือกไปให้สุดทางเพื่อตอบตัวเองได้ว่าสุดท้ายแล้วเราชอบอะไร 3. อยากให้เปิดโอกาสให้กับตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกับที่โรงเรียน หรือที่บ้าน เพราะมีโอกาสวิ่งอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด โอกาสที่จะได้เจอคน ได้ทำงาน ได้ทำกิจกรรม ฉะนั้นต้องเปิดใจให้กว้าง เปิดให้สิ่งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิต และหวังว่านักศึกษาทุกคนจะมีชีวิตที่สนุกและมีสีสันที่สุดขณะอยู่ในธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธรรมศาสตร์ ก็พร้อมจะดูแลทุกคนให้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน
เชื่อพลังการเปลี่ยนแปลง จากรากฐาน ‘สิทธิสัตว์-สิ่งแวดล้อม’
คุณแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลง และน้อง ๆ นักศึกษาใหม่ในวันนี้ก็คือความหวังที่จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ เพื่อเปลี่ยนภาพในสิ่งที่ตนได้ประสบพบเจอจากการใช้ชีวิตและทำงานตลอดเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการกอบโกย ตักตวงผลประโยชน์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของคนบางกลุ่ม ขณะที่คนในประเทศส่วนใหญ่กลับไม่ได้รับโอกาสจากสิ่งเหล่านั้น
คุณแสงเดือน กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ตนอยากมุ่งเน้นคือการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของสัตว์และสิ่งแวดล้อม นั่นเพราะเป็นเรื่องพื้นฐาน หากเราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตรงหน้า ก็คงไม่สามารถมองเห็นถึงคุณค่าของสิ่งอื่น ๆ ต่อไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับเยาวชนนักศึกษารุ่นใหม่ที่เตรียมจะออกไปกลายเป็นผู้นำในอนาคต ถ้าหากว่าเรามองเห็นทุกชีวิตมีค่าไม่เท่ากัน เราก็จะกลายเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ ดังสภาพปัญหาทุกวันนี้ที่เราประสบพบเห็นในเรื่องของการใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน การกดขี่ข่มเหง ฯลฯ
“เราต่อสู้กับความเชื่อทางวัฒนธรรมประเพณี ที่คิดว่าการขี่ช้างไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ในทางตรงกันข้ามไม่มีใครรู้ว่าช้างเหล่านั้นได้รับผลกระทบขนาดไหน ซึ่งการที่เราปล่อยให้เรื่องการทารุณกรรมสัตว์เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติ สามารถปล่อยให้สิทธิสัตว์เหล่านั้นถูกพราก มันก็จะส่งผ่านมาสู่เรื่องของสิทธิมนุษยชน กระทบการเป็นพลเมืองของเราด้วยเช่นกัน” คุณแสงเดือน กล่าว
คุณแสงเดือน กล่าวอีกว่า ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากไปถึงน้อง ๆ นักศึกษารุ่นใหม่ คือเราทุกคนไม่ว่าจะมาจากที่ไหนล้วนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หากเราเชื่อมั่นและให้คุณค่ากับตัวเราเอง เชื่อใน The Power of One และ One Power Can Make Difference โดยเรามุ่งมั่นตั้งใจ และใช้สถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นสถานที่หล่อหลอม เรียนรู้ หาประสบการณ์ชีวิต ขณะเดียวกันก็สามารถใช้อาวุธทรงพลังที่เรามีอยู่ในมืออย่างโซเชียลมีเดีย มาเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือสัตว์ สิ่งแวดล้อม สังคม ซึ่งก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ต้นทุนไม่เท่าอย่าท้อแท้ เพราะ ‘โอกาส’ ซ่อนอยู่หลัง ‘เป้าหมาย’
คุณเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คาราบาวกรุ๊ป กล่าวว่า ตนเคยมีโอกาสเข้ามาเป็นนักศึกษาในรั้ว มธ. เมื่อปี 2518 ซึ่งยังคงจำความรู้สึกตื่นเต้นในเวลานั้นได้ที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีขณะนั้นได้ออกมากล่าวต้อนรับนักศึกษาใหม่ และเป็นบุคคลที่ตนยึดถือแบบอย่างของคนดี คนเก่ง คนกล้า มาถึงปัจจุบัน โดยในเวลานั้นนอกจากตนจะเป็นนักศึกษาที่อายุมากกว่าคนอื่น ๆ แล้ว ยังมีต้นทุนทางฐานะที่น้อยกว่า เพราะเมื่อเรียนจบชั้น ป.4 ก็ต้องออกมาทำงานหาเงิน ก่อนที่จะค่อย ๆ เรียนลัดกวดวิชา จนสามารถสอบเทียบเข้าสู่รั้ว มธ. ได้ในเวลาถัดมา
คุณเสถียร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้ตนจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจเรียนรู้ แต่ก็ต้องเจอกับช่วงสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตนได้ตัดสินใจเข้าป่าไปเป็นทหารอยู่ราว 4 ปีเศษ ก่อนที่จะกลับออกมาอีกครั้งตอนอายุ 27 ปี และกลายเป็นความเจ็บปวดครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องละทิ้งความมุ่งมั่นในการเรียนให้จบออกไป เพราะในยุค 50-60 ปีก่อน การศึกษาคือสิ่งเดียวที่สามารถเปลี่ยนสถานะของคนที่ยากจนได้ โดยเฉพาะเมื่อจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ผู้คนจะให้คุณค่าว่าเป็นบัณฑิต เป็นปัญญาชน ซึ่งเปรียบเสมือนสังคมได้หยิบยื่นบันไดให้สามารถก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีงาม
คุณเสถียร กล่าวอีกว่า เมื่อโอกาสในการเป็นบัณฑิตจบลงตนก็ต้องดำเนินชีวิตต่อ โดยเดินหน้าเริ่มต้นทำธุรกิจ ที่ต้องประสบกับการล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ร้องไห้ท้อแท้ต่อโชคชะตาบ่อยครั้ง ก่อนที่จะค่อย ๆ ลุกยืนขึ้นมาได้ ซึ่งทุกอย่างในชีวิตตนเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะรับรู้ว่าตนเป็นผู้ทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเมื่ออายุกว่า 60 ปีแล้ว
“ที่ผมพูดเรื่องนี้เพื่อที่จะบอกทุกคนว่า ไม่ว่าต้นทุนชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร จะล้มกี่ครั้ง คุณก็สามารถลุกกลับขึ้นมาใหม่ได้ ขอเพียงแต่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคทั้งปวง ทุกคนที่สอบเข้ามาอยู่ในที่แห่งนี้ได้ล้วนอยู่ในจุดที่เท่ากัน เท่ากันในการแสวงหาโอกาส โอกาสที่จะได้เรียนรู้จากคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถมากมายในมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งนี้ รวมถึงโอกาสที่จะได้สร้างมิตรภาพกับเพื่อน ๆ เช่นเดียวกับอุดมการณ์ธรรมศาสตร์ที่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต” คุณเสถียร กล่าวทิ้งท้าย
ไม่ว่าเป็นใคร เรียนคณะอะไร ขออย่าเบื่อ ‘การเมืองไทย’
ขณะที่ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลายคนตั้งคำถามกับตนว่ายังมีความหวังกับระบบการเมือง กับประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งจากการได้พบเจอกับกลุ่มคนที่หลากหลาย กลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงนักศึกษาใหม่ในวันนี้ ตนมีความรู้สึกว่าเรายังไม่หมดหวัง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องฝากไว้คือไม่ว่าเราจะเป็นใคร จะศึกษาอยู่ในคณะใดก็ตาม ต้องจำไว้ว่าอย่าหยุดสนใจการเมืองโดยเด็ดขาด เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน มันคือหน้าที่ การงาน คือโอกาส ความเท่าเทียม คือราคาสินค้า ราคาในชีวิต ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมด
คุณพิธา กล่าวว่า ระบบการเมืองที่ผ่านมาเป็นกระดานที่ทำให้เราเห็นว่า คนที่ล้มล้างการปกครองด้วยการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต้องรับผิด แม้การเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึง 76% ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็เพราะคนในประเทศคิดว่าการเมืองมีความหมาย การเลือกตั้งมีความหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือระบบการเมืองที่คนชนะเลือกตั้งถูกสกัดกั้นการเป็นนายกรัฐมนตรี และกำลังถูกแบนไป 10 ปี ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความพยายามทำเรื่องที่ไม่ปกติ ให้กลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้คนชินชาและเบื่อการเมืองไปในที่สุด
“หลายคนอาจรู้สึกสิ้นหวัง มองไม่ออกว่าเราจะหลุดจากวงจรนี้ไปได้อย่างไร แต่ถามว่าแล้วเรามีทางเลือกอะไร นอกจากที่จะมีความหวังต่อไป โดยที่ไม่เบื่อการเมือง ถ้าทำให้ระบบการเมืองน่าเบื่อมากเท่าไร ดูสิ้นหวังเท่าไร คุณยิ่งต้องสนใจการเมืองให้มากขึ้นเท่านั้น” คุณพิธา กล่าว
คุณพิธา กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการศึกษานั้น ช่วงชีวิตของตนที่อยู่ในรั้ว มธ. ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ตนมีความสุขมากที่สุด และเป็นช่วงที่ปูพื้นฐานการเมืองให้กับตนมากที่สุดในชีวิต โดยเฉพาะระบบการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเสรีภาพทุกตารางนิ้ว เรื่องของคุณค่า คุณธรรม ความเป็นเลิศ การรับใช้สังคมของธรรมศาสตร์ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าความพิเศษของมหาวิทยาลัยนี้จะทำให้ทุกคนเสมอภาคกัน มีความเท่าเทียม จึงอยากให้นักศึกษาใหม่ทุกคนมีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และซึมซับคุณค่าที่ถูกส่งต่อมาได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้กิจกรรมในอาคารกิติยาคาร ยังมีกิจกรรม “การแสดงละครจิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการแสดงโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมี ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นผู้เขียนบท
ปิดท้ายกิจกรรม ‘แรกพบเพื่อนใหม่ 90’ ในช่วงเย็นด้วย Delightful TU Universe ณ ยิมเนเซียม 4 และ 5 โดยพบกับการแสดงจากชุมนุม กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ และคอนเสิร์ตจากศิลปินสุดพิเศษ เพื่อเป็นการต้อนรับเพื่อนใหม่ในโอกาสนี้