Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์ มธ. แนะรัฐเร่งประเมินความเสี่ยง ‘แคดเมียม’ หวั่นกระทบต่อสุขภาพประชาชน

อาจารย์ มธ. แนะรัฐเร่งประเมินความเสี่ยง ‘แคดเมียม’ หวั่นกระทบต่อสุขภาพประชาชน

Featured Stories 18 เม.ย. 2567
หน้าหลัก Featured Stories อาจารย์ มธ. แนะรัฐเร่งประเมินความเสี่ยง ‘แคดเมียม’ หวั่นกระทบต่อสุขภาพประชาชน

อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. วิเคราะห์ความเสี่ยงกากแคดเมียม แนะให้รัฐเร่งตรวจสอบ และสื่อสารต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

 จากประเด็นที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ขยายผลนำกำลังเข้าตรวจค้นโกดังของบริษัท ล้อโลหะไทย แมททอล จำกัด ตั้งอยู่ ซ.เรียงปรีชา ถนนประชาราษฏร์ แขวงและเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ภายหลังสืบสวนทราบว่า โรงงานดังกล่าวมีการซุกซ่อนกากแคดเมียมจำนวนมากกว่า 300 ตัน และยังเชื่อมโยงกับการตรวจพบกากแคดเมียมอีกจำนวนกว่า 1.5 หมื่นตัน ที่ จ.สมุทรสาคร อีกด้วยนั้น

ดร.ณัฐฐา แสงนรินทร์ เหมจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมในละแวกที่พบกากแคดเมียม เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ากากแคดเมียมนั้นได้ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญต่อประชาชนให้ระมัดระวังผลกระทบต่อสุขภาพ 

 สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ควรดำเนินทั้ง 3 ขั้นตอนคือ 1. ประเมินความเสี่ยงของแคดเมียม และโลหะหนักชนิดอื่นที่ตรวจพบต่อสุขภาพ เพื่อให้ทราบว่าความเข้มข้นการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมในปริมาณที่ตรวจพบส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร หากประชาชนรับสารเข้าไปในร่างกาย ซึ่งแคดเมียมสามารถเป็นพิษแบบเฉียบพลันหากได้รับในปริมาณสูง แต่ถ้ารับสารความเข้มข้นต่ำๆ อาจแสดงความเป็นพิษแบบเรื้อรัง หรือทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ 2. การสื่อสารความเสี่ยง เมื่อพบความเสี่ยงของการปนเปื้อนแล้วต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการร่วมกันในหน่วยงานรัฐ และแจ้งต่อประชาชนในทันที พร้อมคำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ 3. การจัดการความเสี่ยง โดยการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียมด้วยวิธีการที่ถูกต้อง การใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบ

ดร.ณัฐฐา กล่าวว่า ในเบื้องต้นภาครัฐควรประเมินความเสี่ยงสภาพแวดล้อม โดยตรวจสอบสภาพอากาศตั้งแต่จุดที่ขนย้ายกากแคดเมียมตามเส้นทางที่มีการบรรทุกจากต่างจังหวัดเข้ามายังกรุงเทพฯ รวมไปถึงบริเวณภายในโกดังของโรงงานที่จัดเก็บกากแคดเมียม หากพบว่ามีการปนเปื้อนภายในก็ต้องขยายวงรัศมีการตรวจสอบออกไปในพื้นที่โดยรอบ ทั้งแหล่งดินเพาะปลูก แหล่งน้ำ และสภาพอากาศโดยรอบด้วยเช่นกัน ซึ่งหากตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าไม่มีผลกระทบ หรือมีผลกระทบก็ตาม ต้องรีบแจ้งต่อประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะๆ 

  “เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่โดยรอบของโกดังที่จัดเก็บ ทั้งแหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก และในอากาศ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากโกดังที่จัดเก็บก่อน หากพบว่ามีการปนเปื้อน ก็ต้องขยายวงรัศมีการตรวจสอบออกไปจนกว่าจะไปพบว่าพื้นที่ใดบ้างที่ไม่มีการปนเปื้อนแล้ว และจากนั้นก็ต้องมีแนวทางการจัดการกากแคดเมียมที่ค้นพบอย่างถูกต้องต่อไป เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนได้อีก” ดร.ณัฐฐา กล่าวย้ำ

 ดร.ณัฐฐา กล่าวอีกว่า ในส่วนประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงโกดังที่จัดเก็บกากแคดเมียม อย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่ให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นจะต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดดมสารแคดเมียมที่อาจกระจายตัวอยู่ในอากาศ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นรอยต่อของกรุงเทพฯ อย่าง จ.นนทุบรี ก็ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัดว่ามีการปนเปื้อนหรือกระจายไปก็ตาม

   “สารแคดเมียมมีความอันตรายและเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสูดดมในอากาศ การสัมผัสทางผิวหนัง และการรับประทานพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนจากการเพาะปลูก ดังนั้น ประชาชนอาจต้องตระหนักรู้ และเมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสารเคมี หรือสารพิษ ก็ต้องคอยรับฟังข้อมูลจากภาครัฐ และกรองข่าวสารนั้นเพื่อความถูกต้อง พร้อมกับหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้รู้ตัวว่าต้องระวังขนาดไหน แต่สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาต่อไปประชาชน” ดร.ณัฐฐา กล่าว


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content