Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Test Title

Test Title

อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาเตียงสำหรับผู้ป่วยสูงอายุและติดเตียง

แผลกดทับเกิดจากแรงกดและการเสียดสีที่ผิวหนังอย่างต่อเนื่อง การพลิกตัวผู้ป่วยเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดแผลกดทับ แต่การพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ด้วยผู้ดูแลตัวคนเดียว เป็นเรื่องที่ยากและลำบากมาก อีกทั้งเวลาพลิกตัวต้องใช้แรงมาก จนทำให้ผู้ดูแลมีปัญหาสุขภาพตามมาด้วย จึงเป็นที่มีของผลงานเตียงพลิกตัวโดยใช้ระบบจอสัมผัสพร้อมระบบแจ้งเตือนการเกิดแผล

     รศ.จิณพิชญ์ชา สาธิยมาส คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาเตียงสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง โดยวิเคราะห์ความต้องการเตียงที่ตรงกับความต้องการผู้ป่วยเพื่อจัดการแผลกดทับ ส่วนประกอบหลักของเตียงคือ กลไกการทำงานของเตียงในการตะแคงตัวซ้ายและขวา การยกปรับหัวเตียงหรือการงอเข่า โดยใช้กระบอกสูบไฟฟ้า (Linear Actuator) 4 ตัว ควบคุมผ่านจอสัมผัสของโทรศัพท์มือถือ รับน้ำหนักได้ 100 กิโลกรัม การคำนวณความแข็งแรงโครงสร้างเป็นไปตามมาตรฐานและผ่านการทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 และ IEC 60601-2

     ส่วนประกอบที่สองเป็นระบบแจ้งเตือนการเกิดแผลกดทับ ที่ติดตั้งที่เบาะนอนผ่านการทำงานของเซนเซอร์วัดแรงกด การควบคุมการทำงานของระบบพลิกตัวของเตียงต้นแบบสามารถสั่งการได้ผ่านทางเว็บแอปพลิเคชัน และโทรศัพท์มือถือ การทำงานของระบบ จะเป็นการแสดงผลข้อมูลการทำงานผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์ออนไลน์ ประกอบด้วย ระบบควบคุมการทำงานของเตียง และระบบที่ใช้ในการตรวจสอบสถานะต่างๆ ด้านบนเตียงของผู้ป่วย ในการแจ้งเตือนการเกิดแผลกดทับโดยตรวจจับการเกิดแผลกดทับผ่านการวัดแรงกดที่ได้จากเซนเซอร์

     ระบบยังส่งผ่านข้อมูลมาแสดงผลร่วมกับข้อมูลส่วนอื่น ๆ บนเตียง ที่จะทำให้เกิดการแจ้งเตือนและแสดงผลข้อมูลบนแอปพลิเคชัน จากการทดสอบเบื้องต้น พบว่าอัตราการเกิดแผลกดทับในกลุ่มผู้ป่วยตัวอย่างลดลงกว่ากลุ่มที่ใช้เตียงตามปกติ

     นอกจากนี้กลุ่มญาติผู้ดูแล ที่มีการใช้นวัตกรรมเพื่อลดภาระในการพลิกตะแคงตัว และมีผลช่วยลดปัญหาทางเศรษฐกิจจากค่าใช้จ่ายของการรักษาแผลกดทับ โดยพบว่าต้นทุนต่อวันสำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่รวมค่าเสียโอกาสของญาติลดลงกว่าช่วงที่ไม่ใช้นวัตกรรม

     การนอนติดเตียงสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จนต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวตลอดเวลาไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในผู้สูงอายุที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ ทีมผู้วิจัยจึงพัฒนาเบาะนอนเพื่อตรวจจับการเกิดแผลผิวหนังอักเสบเนื่องจากการสัมผัสกับปัสสาวะ อุจจาระ ผ่านการติดตั้งระบบเซนเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นกรดด่างที่ผิวหนังร่วมกับตัวจับค่าความชื้นที่เป็นอันตรายกับผิวหนัง แล้วส่งผ่านข้อมูลได้รับจากเซนเซอร์แสดงผลเช่นเดียวระบบของเตียงพลิกตัว

     เตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ (ยื่นขออนุสิทธิบัตรเลขที่ 2303000697) ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสูงสุด PRIX EIFFEL 2022 Platinum Medal Award ในงาน The Prix Eiffel International Invention and Innovation Contest (PRIX EIFFEL 2022) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และรางวัลเหรียญทอง ในงาน The 25th International Idea Novelty Invention Exhibition and Fair (IDEA 2023) ที่จัดขึ้นที่ประเทศฮังการี

    ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการถ่ายทอดขยายผลการพัฒนาต้นแบบสู่การใช้งานจริงและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content