Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘อธิการบดีพบประชาคม มธ.’ 9,348+1 = ONE TU: WE SHARE, WE CHANGE, WE WIN

‘อธิการบดีพบประชาคม มธ.’ 9,348+1 = ONE TU: WE SHARE, WE CHANGE, WE WIN

Featured Stories 3 ก.ค. 2567
หน้าหลัก Featured Stories ‘อธิการบดีพบประชาคม มธ.’ 9,348+1 = ONE TU: WE SHARE, WE CHANGE, WE WIN

Townhall Meeting อธิการบดีพบประชาคม มธ. “9,348+1 = ONE TU” ถ่ายทอดนโยบาย บอกเล่าเป้าหมาย และ Transform มหาวิทยาลัย ด้วยการทำงานแบบ ONE TU

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม Townhall Meeting อธิการบดีพบประชาคม มธ. “9,348+1 = ONE TU: we share, we change, we win”  เพื่อถ่ายทอดนโยบาย บอกเล่าเป้าหมาย รวมทั้งการ Transform มหาวิทยาลัย ด้วยการทำงานแบบ ONE TU อีกทั้งเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็น “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต” Leading Comprehensive University for Future societies โดยกิจกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ ชั้น 2 อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และทางระบบออนไลน์ 3 ศูนย์การศึกษา ท่าพระจันทร์ ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา โดยมีประชาคมธรรมศาสตร์ เข้าร่วมงานกว่า 700 คน

     ถือเป็นครั้งแรกที่คณาจารย์ บุคลากร ในฐานะหนึ่งในประชาคมธรรมศาสตร์ จะได้รับฟังถ้อยแถลง วิสัยทัศน์ จากรักษาการแทนอธิการบดี ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ โดยตรง และในเวลา 10.00 น. ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ได้ขึ้นเวทีพร้อมกับไขข้อสงสัย คลี่คลายตัวเลขในสมการปริศนา 9,348 + 1 = ONE TU

     9,348 คือจำนวนบุคลากรทั้งหมดของธรรมศาสตร์ ซึ่ง ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ บอกว่า หากจะอัปเดตกันแบบล่าสุด ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ต้องบวกเพิ่มอีก 25 คน

     ขณะที่ตัวเลข 1 คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ส่วน ONE TU คือค่านิยมใหม่ ที่จะหลอมรวม และเริ่ม Kick Off ตั้งแต่วินาทีต่อจากนี้

จิตวิญญาณเพื่อสังคม

     ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวว่าพื้นฐานของธรรมศาสตร์ เราคือมหาวิทยาลัยสายสังคม ที่เกิดขึ้นเพราะคณะราษฎรต้องการให้ธรรมศาสตร์เป็นแหล่งศึกษาให้กับผู้คน ประชาชน ในรูปแบบของตลาดวิชา กระทั่งเข้าสู่การพัฒนาเพิ่มหลักสูตร คณะ และศูนย์การศึกษาต่าง ๆ มาจนถึงการเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ที่เกิดขึ้นล่าสุดในปี 2567 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ก็อยู่กับความเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า และการช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด เช่น การใช้พื้นที่เป็นศูนย์พักพิงช่วยเหลือนักศึกษาและประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในปี 2554 หรือการเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งแรกเพื่อให้การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปี 2563-2564

     อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ถือเป็นปีแห่งการสถาปนาครบรอบ 90 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในเส้นทางที่เรากำลังจะเดินทางไปสู่อนาคต หรือก้าวไปสู่ปีที่ 100 นั้น มีความท้าทายรออยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ Disruption ของระบบการศึกษา รูปแบบการเรียนรู้ รวมถึงโครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในประเทศและโลก

     “หากพวกเราทุกคนไม่ช่วยกันอย่างจริงจัง อีก 10 ปีข้างหน้า ธรรมศาสตร์จะก้าวไปสู่ปีที่ 100 แบบทุกลักทุเล ฉะนั้นผมคิดว่าการทำให้ทุกคนในธรรมศาสตร์เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยนั้น ผมเองจะเป็นเพียงผู้บอกว่าเราควรไปทางไหน ทุกท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อไม่เป็นไร ต้องพิสูจน์ด้วยตัวของทุกท่านเอง ผมจะไม่เป็นฮีโร่อยู่คนเดียว แต่ผมจะประกาศว่า ถ้าธรรมศาสตร์สำเร็จ ถ้าธรรมศาสตร์ทะยานไปข้างหน้าเป็นที่ยอมรับ สังคมพูดถึงเรา ก็ไม่ใช่เพราะผม แต่จะเป็นเพราะพวกท่านทุกคน ทีมบริหาร ทีมบริหารคณะ ทีมประชาคมธรรมศาสตร์ รวมถึงนักศึกษาทุกคน” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ระบุ

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นในเวลา 3 ปี

     มีเวลาทำงานเพียงแค่ 3 ปี คือสิ่งที่ ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ เน้นย้ำ ฉะนั้นสิ่งที่พูดต่อจากนี้จะอยู่ในกรอบการทำงาน 3 ปี ซึ่งวิสัยทัศน์ในระยะเวลา 3 ปีนี้ คือต้องทำให้ธรรมศาสตร์เป็น “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต” หรือ “Leading Comprehensive University for Future Societies”

     แน่นอน อาจมีคนมองว่าวิสัยทัศน์นี้ดูธรรมดาเกินไป แต่สำหรับ ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ วิสัยทัศน์ที่ดีควร Keep it simple นั่นเพราะอาจารย์เชื่อในความเรียบง่าย เชื่อในการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นง่าย ๆ และคำไม่กี่คำนี้ มีนัยยะในตัวเองครบถ้วน

     “แม้ว่าในอดีตธรรมศาสตร์คือมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ แต่ในวันนี้เรามีคณะแพทย์ถึง 2 คณะ ทั้งไทยและนานาชาติ เรามีวิศวะฯ 2 คณะ ทั้งไทยและนานาชาติ ซึ่งมีไม่กี่มหาวิทยาลัยในประเทศที่มีเช่นนี้ นั่นแปลว่าในวันนี้ ธรรมศาสตร์ไม่ใช่มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ แต่เราคือ Comprehensive University ประเด็นคือแล้วเราจะทำอย่างไรให้เราเป็น Leading Comprehensive University นี่คือความท้าทายประการแรก” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

     สำหรับความท้าทายประการต่อมาคือคำว่า Future Societies หรือสังคมที่มีพลวัตร สังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไวมากจนเราตามไม่ทัน โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เข้ามา Disruption เราทุกคน ฉะนั้นเราต้องพามหาวิทยาลัยของเราไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคตให้ได้ โดยมีพันธกิจ อาทิ พัฒนาหลักสูตรให้เป็นที่ยอมรับในฐานะมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ตลอดจนการจัดการเรียนการสอน และงานวิจัย นวัตกรรม งานสร้างสรรค์ มีการผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้ใช้

     ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมจุดเริ่มต้นของธรรมศาสตร์ นั่นคือ มีจิตสาธารณะและเป็นที่พึ่งของประชาชน

     “ความคาดหวังของประชาคมธรรมศาสตร์ในวันนี้เปลี่ยนไปจากในอดีต ขณะที่สภามหาวิทยาลัยในยุคนี้มีความใส่ใจในรายละเอียดมาก เพราะท่านให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราทำและท่านก็เฝ้ารอที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น Ultimate Goals หรือเป้าหมายหลักที่วางไว้จึงมีความสำคัญและต้องไปถึง” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด แห่งหนึ่งในเอเชีย

     สำหรับ Ultimate Goals สามารถอธิบายผ่านยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ธรรมศาสตร์เป็น “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต” หรือ “Leading Comprehensive University for Future Societies” ที่มีด้วยกัน 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ชั้นนำแห่งอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายคือทำให้ธรรมศาสตร์เป็นที่ยอมรับในฐานะมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

     “ขอให้ทุกท่านขีดเส้นใต้คำว่าภูมิภาคไว้ ภูมิภาคในที่นี้ผมหมายถึงทวีปเอเชีย บางคนถามว่าทำไมเราไม่ไปถึง World Class ในระยะเวลา 3 ปี ผมขอแค่ให้เราเป็น Leading University ของเอเชียผมก็ดีใจมากแล้ว ในอีก 3 ปีข้างหน้า แค่เราเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ ในญี่ปุ่น หรือบ่าเคียงไหล่กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน ให้เขายอมรับเรา ผมว่าแค่นี้ก็ดีมากแล้ว เพราะต้องยอมรับความจริงว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ใน 5-10 ปีข้างหน้า เราจะไปแข่งขันกับมหาวิทยาลัยระดับ World Class” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

     ดังนั้น เราต้องพัฒนามหาวิทยาลัย ‘ให้มีความเป็นเลิศในทุกกลุ่มสาขาวิชา’ ซึ่งในปัจจุบันธรรมศาสตร์มีร่องรอยแล้ว ตัวอย่างหนึ่งคือ คณะแพทยศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ถือเป็นความภาคภูมิใจ เพราะเราตั้งขึ้นมาเพียงแค่ 30 ปี แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทยได้

     “ผมคิดว่ามันมีร่องรอยที่จะทำให้ธรรมศาสตร์มีความเป็นเลิศในทุกกลุ่มสาขาวิชา สุขศาสตร์เราเป็นความหวัง แพทย์เราเป็นความหวัง แต่ที่สุดแล้วหลักสูตรการเรียนการสอนของเราต้องมีความทันสมัย ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และคีย์เวิร์ดที่อยากเน้นคือการบูรณาการ มีการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน

     “ส่วนกลยุทธ์ที่ช่วยขยับยุทธศาสตร์ นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัยแล้ว เรายังจะมุ่งผลิตบัณฑิตที่ทำงานเป็น ทำงานได้ทันที คือไม่ใช่รู้แค่ทฤษฎี แต่ต้องเป็นคนที่ต้องมีทักษะในการทำงาน ต้องมี soft side ทั้งบุคลิกภาพ การแสดงออก ที่มีความเหมาะสม ทำให้คนอยากให้บัณฑิตธรรมศาสตร์เข้าไปอยู่ในองค์กรด้วย ซึ่งอาจมีหลายคนบอกว่าในโลกยุคปัจจุบันไม่มีใครอยากเข้าองค์กรแล้ว เขาไปเป็นผู้ประกอบการหรือฟรีแลนซ์กันหมด ซึ่งก็ถูก แต่ไม่ทั้งหมด ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ คนอีกจำนวนมากยังต้องกลับเข้าสู่องค์กร ฉะนั้นเราต้องทำให้บัณฑิตของเราเป็นที่ต้องการ” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ระบุ

     ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากบัณฑิตแล้ว สิ่งที่อยากเห็นควบคู่กันไปด้วยคือการพัฒนาศักยภาพของตัวอาจารย์ให้มีทักษะที่เหมาะสม ซึ่งในเรื่องนี้ขอฝากความหวังไว้ที่ ‘คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์’ ในการออกแบบให้มีการ Re-skill / Up-skill อย่างเหมาะสมเพิ่มเติมต่อไป

บัณฑิตต้องมีคุณลักษณะเหมาะสม – ดัน Proposal Bank

     ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเป็นมหาวิทยาลัยของสังคม เราจะมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นที่พึ่งของสังคมในฐานะแหล่งผลิตบุคลากรของชาติที่มีจิตสาธารณะ ที่เป็นที่พึ่งของประชาชน สร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่า ตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก ผ่านการสร้างงานวิจัย นวัตกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมาจากทั้งมุมของตัวนักศึกษา งานวิจัย และงานบริการวิชาการ สิ่งที่ ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ อยากเห็นคือ “ใคร ๆ ก็นึกถึงธรรมศาสตร์”

     ทั้งนี้ ในมุมของตัวนักศึกษานั้น ต้องทำให้ผู้ใช้บัณฑิตทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนอยากได้บัณฑิตที่จบจากธรรมศาสตร์ ฉะนั้นการทำให้บัณฑิตของเรามีบุคลิก มีคุณลักษณจบออกไปแล้วทำงานรับใช้สังคม รับใช้หน่วยงาน รับใช้องค์กร ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นสิ่งที่สำคัญ

     นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กธรรมศาสตร์จำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่น่ากังวล ส่วนตัวจึงได้ให้คำมั่นสัญญากับสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ว่า การดูแลคุณภาพชีวิตของนักศึกษาจะเป็นวาระที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความปลอดภัย ตลอดจนสวัสดิภาพในชีวิต

     ในมุมของงานวิจัย ทุกวันนี้ธรรมศาสตร์ยังขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘Proposal Bank’ นั่นทำให้นักวิจัยธรรมศาสตร์มักจะตกขบวนเวลาขอทุนวิจัย จากนี้เราจำเป็นต้องมุ่งสร้างหน่วยวิจัยที่ดี ที่สำคัญเราต้องเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีเข้ากับประเด็นทางสังคมด้วย เช่น การแสดงความคิดเห็น ให้มุมมอง ข้อเสนอแนะ จากนักวิชาการธรรมศาสตร์ต่อสถานการณ์หรือปัญหาสาธารณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

ยกเครื่องระบบสัญญาจ้าง – เดินหน้าบำนาญ

     ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความสุขและความยั่งยืนให้กับประชาคมธรรมศาสตร์ มุ่งพัฒนาให้ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่มีประชาคมทุกกลุ่มมีความสุขและความยั่งยืน มีศักยภาพสูงในการทำงานตามพันธกิจ เพื่อจะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคตได้ทั้ง 4 ศูนย์การศึกษา

     โดยส่วนตัวของอาจารย์ศุภสวัสดิ์แล้ว มีความต้องการอยากคืนความสุขให้กับทุกคน ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ทั้งด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ โดยมีหลายเรื่องที่ต้องทำ อาทิ การพัฒนาเชิงกายภาพ

     ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวถึงเรื่องความสุขและความยั่งยืนของบุคลากรว่า มีทั้งประเด็นระบบสัญญาการจ้างงาน ประเด็นการผลิตงานวิชาการ ไปจนถึงสิทธิสวัสดิการ บำนาญต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อการดำเนินงาน

     “พวกเรานึกออกไหม มีคนจบ PhD จาก Ivy League สหรัฐอเมริกา แต่กลับต่อสัญญากับธรรมศาสตร์ไม่ได้ เขายังไม่ดีพอสำหรับเราอีกหรือ นี่คือประเด็นในเรื่องระบบสัญญาจ้างที่เราต้องกลับมาทบทวน เรื่องนี้ผมก็ได้มอบท่านรองฯ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ไปแล้ว ให้คิดเร็วทำเร็ว เพื่อให้เกิดระบบการจ้างงานที่ดีกว่าเดิม

     “ส่วนตัวเข้าใจว่าขณะนี้ทุกคนกำลังหมกมุ่นอยู่กับการผลิตผลงานวิชาการเพื่อให้สามารถต่อสัญญาได้ ผมเคยพูดเรื่องนี้และได้รับการตอบกลับว่า ‘ไม่เป็นธรรมเลย เพราะคนทำได้ก็มี’ ซึ่งเราจะคิดแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งคนทำได้มี เพราะท่านมีความสามารถ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เพราะเขาไม่เก่ง แต่เขาอาจมีภารกิจอื่น เช่น ต้องตรวจงานนักศึกษา ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับนักศึกษา ทำโครงงานร่วมกับนักศึกษา สุดท้ายบางคน 3 ปี งานวิจัยก็ไม่ออก ดังนั้นระบบแบบนี้ต้องมีการทบวน”

     “ในส่วนของสายสนับสนุนก็เช่นกัน ผมจะทำให้ท่านมีความมั่นคงมากขึ้น อย่างในเรื่องประกันบำนาญ ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมาก เราเริ่มเห็นตุ๊กตาความเป็นไปได้ว่าเราจะดีไซน์ระบบอย่างไร ฉะนั้นยืนยันว่าทั้ง 15 ประเด็นนโยบาย 73 เรื่อง ที่เคยให้สัญญาเอาไว้นั้น ผมจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีนี้อย่างแน่นอน” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวหนักแน่น

30 บาทกินอิ่มคุณภาพดี – เริ่มรับอาจารย์วุฒิ ป.โท

     ในส่วนเป้าหมาย Quick Win ที่ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้สำเร็จภายใน 100 วันแรก ได้แก่ 1. โรงอาหารราคาถูกที่รังสิต โดยจะทำเป็น Alternative Cantine ราคาประหยัด ‘30 บาท กินอิ่ม คุณภาพดี รสชาติใช้ได้’ 2. พัฒนาพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาเสริมสร้างสุขภาพกายและใจที่ดี 3. บรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่รังสิต 4. ที่จอดรถฟรีสำหรับบุคลากรที่รังสิต 5. พัฒนาระบบ E-Learning สำหรับการเรียนและสะสมหน่วยกิต

     6. พัฒนาศูนย์สหกิจศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาสำหรับการทำงาน 7. สนับสนุนและสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์สังคม 8. การสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ 9. ปรับนโยบายรับอาจารย์ใหม่ โดยในบางหน่วยงานจะเริ่มรับวุฒิปริญญาโทได้บ้าง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการแก้กฎระเบียบต่อไป 10. ปรับปรุงแนวทางการต่อสัญญาจ้างของสายวิชาการ

     อีกตัวอย่างปัญหา Pain Point ของธรรมศาสตร์ คือเรื่องการบริหารจัดการระบบข้อมูล เช่น การขอข้อมูลสถิติจากแต่ละแหล่ง กลับพบว่าตัวเลขไม่ตรงกัน และมักจะมีการขอซ้ำ ๆ จากหน่วยงานเดิม ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าการ Transform มหาวิทยาลัยเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ทั้งหมดที่วางไว้ได้

ปลุกค่านิยม ONE TU – ก้าวข้ามทุกความขัดแย้ง

     “ฉะนั้น เมื่อผมมีเวลา 3 ปี จะเป็นเวลา 3 ปีที่ผมขอปลุกค่านิยมของคนธรรมศาสตร์ ที่เรียกว่า ONE TU ผมคิดว่าเราคงต้อง Transform มหาวิทยาลัยในหลายมิติ แต่ในวันนี้ ในงานที่ทุกท่านมาอยู่ร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ ผมอยากให้เป็นการ Kick Off การเปลี่ยน Mindset หรือ Transform Mindset ของคน จากเดิมที่เรามี 50 หน่วยงาน อาจจะเป็น 100 Mindset ผมอยากจะหลอมรวมให้เรามี Mindset เดียวกัน นั่นคือ ONE TU คือเห็นวิสัยทัศน์ เห็นเป้าหมายร่วมกัน และรู้ว่าเราต้องทำงานร่วมกันเพื่อความเปลี่ยนแปลง

     “ในวันนี้เราต้องเลิกเป็นคนของคณะไหน หรือหน่วยงานไหน แต่เราต้องเป็นคนของธรรมศาสตร์ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งผมเข้าใจดีว่าสวัสดิการที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้เราก้าวข้ามการเป็นบุคลากรของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ยาก ผมรู้ว่ามันยาก แต่มันต้องเริ่ม” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ระบุ

     สำหรับค่านิยม ONE TU ประกอบด้วย O: Out of the box  การคิดนอกกรอบ คิดอย่างแตกต่างเพื่อสร้างมุมมองใหม่อย่างสร้างสรรค์, N: No Boundaries การทำงานร่วมกันแบบบูรณาการภายใต้ความถูกต้องเป็นธรรม, E: Empathy ความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจในความแตกต่างและความรู้สึกของผู้อื่น, T: Transform พร้อมที่จะปรับและเปลี่ยนให้ดีขึ้นในทุกสถานการณ์ และ U: Unity สมานฉันท์ สามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพภายใต้ความหลากหลาย

     ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ตั้งใจจะจัดให้มีกิจกรรม Town Hall ที่มาพบปะร่วมกันในลักษณะนี้อย่างน้อยเทอมละ 1 ครั้ง ตลอด 3 ปี และหลังจากนี้ก็ตั้งใจที่จะไปเยี่ยมคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยให้ครบ เพื่อตอกย้ำถึงเป้าหมายที่ทุกคนต้องมีบทบาทในการร่วมเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะการที่มหาวิทยาลัยจะสำเร็จได้ตามเป้าหมายนั้นต้องหวังพึ่งทุกหน่วยงาน ทุกคณะ และทุก ๆ คน


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content