ศิลปกรรม มธ. ปี 2 ทำถึง! ‘FINAL PROJECT ออกแบบแฟชั่น 2’ ครีเอทผลงานสะท้อนไอเดียสร้างสรรค์
ชมภาพผลงานและฟังแนวคิดของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรายวิชาการออกแบบแฟชั่น 2
พาชมภาพผลงานการออกแบบแฟชั่นและฟังแนวคิดของการสร้างสรรค์ Final Project ของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิชาเอกออกแบบแฟชั่น ในรายวิชาการออกแบบแฟชั่น 2 (Fashion Design 2) คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี อาจารย์ ดร.นลินี เนติธรรมากร และอาจารย์เฉลิมเกียรติ คติเกษมเลิศ เป็นอาจารย์ผู้สอน
การออกแบบแฟชั่นอย่างไร้กรอบจำกัด ได้ถูกตีความออกมาในหลากหลายมุมมองทั้งความคิด ความรู้สึก และสิ่งรอบตัว สะท้อนถึงการเรียนรู้ของเนื้อหารายวิชาที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ผ่านการออกแบบแฟชั่นในครั้งนี้ โดยได้คัดเลือกผลงานมา 4 ผลงาน เพื่อให้ทุกท่านได้รู้จักกับวิชาเอกออกแบบแฟชั่นมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ผลงาน T-Shirt War ของ ศิวรักษ์ นิโรจน์, ผลงาน Nightmare ของ ประณิตา อัมราช, ผลงาน Algophobia is Haunting Me ของ รัฐธีรา รุ่งสง่า และผลงาน The Anatomy of Eddie ของ ธนภูมิ แจ่มจันทร์
จุดเริ่มต้นของไอเดียทางแฟชั่น
ศิวรักษ์ T-Shirt War: ผมสนใจเรื่องเสื้อยืด พอค้นคว้าทำให้เห็นอีกมุมมองคือเสื้อยืดก่อให้เกิดปัญหาความไม่ยั่งยืนตามมา เช่น การซื้อเสื้อยืดที่มากขึ้นและบ่อยขึ้น ทำให้เสื้อยืดตัวเดิมไม่ได้ถูกนำกลับมาสวมใส่ จึงเกิดเป็นแนวคิดที่อยากจะนำเสื้อยืดมาทำใหม่ ไม่ให้กลายเป็นขยะ (Up-cycle) โดยผลงานนี้ใช้เสื้อยืดเพื่อผลิตเนื้อหาใหม่ เป็นประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าให้กับเสื้อยืดที่ถูกทิ้งที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ประณิตา Nightmare: มาจากการประสบกับอาการฝันร้ายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของตัวเองค่ะ ทำให้มีความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดฝันร้าย จนได้พบข้อมูลที่น่าสนใจคืออาการฝันร้ายของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เป็นเรื่องที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนเหมือนกันค่ะ ปกติผู้คนจะนึกถึงแต่อาการหรือพฤติกรรมของคนที่เป็นโรคนี้ เราจึงนำฝันร้ายของคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามานำเสนอค่ะ
รัฐธีรา Algophobia is Haunting Me: ได้แรงบันดาลใจมาจากโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งค่ะ ชื่อว่า Algophobia เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะหวาดกลัวความเจ็บปวดทางกายอย่างรุนแรง จนอาจเกิดเป็นภาพหลอน เราได้นำผลที่เกิดจากอาการนี้คือ ภาพหลอน การมองเห็นที่บิดเบี้ยวจากจิตใจที่หวาดกลัวของผู้ป่วยโรคนี้ที่กำลังเผชิญ มาถ่ายทอดลงในผลงานค่ะ
ธนภูมิ The Anatomy of Eddie: ผมสังเกตและสงสัยว่าธรรมชาติสร้างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ นั้นให้สามารถขยับร่างกายได้อย่างไร โดยปัจจัยหลักนั้นเกิดได้โดยโครงสร้างอวัยวะของมนุษย์ (Anatomy) ที่ประกอบไปด้วยกระดูกและกล้ามเนื้อ ผมจึงสร้างเสื้อผ้าที่แสดงถึงโครงสร้างอวัยวะของมนุษย์ โดยผสมผสานแนวคิดนี้เข้ากับแรงบันดาลใจที่ชื่นชอบจากวงดนตรีสไตล์ร็อคเมทัล Iron Maiden ที่มีมาสคอตประจำวงคือ Eddie The head มาใช้ในผลงานครับ
เส้นทางกว่าจะมาเป็นผลงาน Final Project
ศิวรักษ์ T-Shirt War: การผลิตผลงานค่อนข้างยากครับ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือและเวลา ผมได้คัดเลือกเสื้อยืดสีขาวจากตลาดมือสอง และรื้อโครงสร้างของเสื้อยืดทั้งหมดและตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยชุดเดรสยาวจะเป็นการเย็บชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่ละชิ้นไปตามแพทเทิร์น ต้องใช้ความละเอียดในการวางลวดลาย ส่วนการทำโค้ทเป็นงานทำมือ ใช้เศษผ้ายืดที่เราตัดไว้นำไปดึงและยืดออก สอดทีละชิ้นลงในผ้าตาข่ายทีละรูอย่างสม่ำเสมอ จึงใช้เวลานานมากที่สุดในการทำงานครั้งนี้ครับ
ประณิตา Nightmare: ผลงานมีความยากและความท้าทายเลยค่ะ เพราะหัวข้อเป็นเรื่องเกี่ยวกับนามธรรม เราต้องใส่ทั้งความคิดและจินตนาการลงไป ตั้งแต่แนวความคิดในการออกแบบ การเลือกใช้สี และวัสดุ และยังต้องแข่งกับเวลาด้วยค่ะ เนื่องจากเราจำเป็นต้องทดลองวัสดุและสีที่จะใช้ในผลงาน รวมถึงการสร้างรายละเอียดของผลงาน ซึ่งใช้ระยะเวลานาน ทำให้ต้องบริหารเวลาในแต่ละส่วนให้ดีค่ะ
รัฐธีรา Algophobia is Haunting Me: ความที่เราอยากถ่ายทอดความบิดเบี้ยวของจิตใจ เลยมีการเน้นทดลองเทคนิคไปที่วัสดุต่าง ๆ เช่น การพิมพ์ลงพลาสติก การพิมพ์ด้วย Cyanotype ความยากคือการทำให้เทคนิคเป็นไปตามที่วางแผน ถ้าไม่ระวังไม่รอบคอบ เราจะเสียงานชิ้นนั้นไปเลยค่ะ การทำงานในแต่ละขั้นตอนต้องมีทดลองเยอะมากและต้องใช้ความคิดเยอะมาก ๆ เลยค่ะ
ธนภูมิ The Anatomy of Eddie: การผลิตผลงานมีทั้งความยากและง่ายครับ ผมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การสร้างโครงสร้างด้วยผ้า และการปั้นโครงสร้างขององค์ประกอบชุด ซึ่งเราต้องสร้างพื้นผิวให้แสดงถึงกล้ามเนื้อและตัดเย็บให้คล้ายกับส่วนกระดูกของมนุษย์มากที่สุด ส่วนการปั้นโครงสร้าง ถือเป็นส่วนที่ยากที่สุด เพราะต้องใช้ความชำนาญในการปั้น โดยผมได้ใช้ดินสำหรับสร้างโมเดลที่มีความยืดหยุ่นของตัวเนื้อดินตามความชื้นที่ได้รับ จึงต้องคำนวณเวลาการปั้น และการเซตตัวของดินที่แม่นยำเพื่อเลี่ยงการยุบตัวของดินที่อาจทำให้ผิดรูปครับ
หัวใจสำคัญของการผลิตผลงานทางแฟชั่นในวิชา Fashion Design 2
ศิวรักษ์ T-Shirt War: ผมได้รับคำแนะนำจากอาจารย์เป็นอย่างดี ทำให้ได้ข้อเสนอแนะกลับมาคิด และปรับปรุงรูปแบบการทำงานของตัวเอง อาจารย์คอยแนะนำเทคนิคที่จะใช้ในผลงาน องค์ประกอบต่าง ๆ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำให้การผลิตงานในครั้งนี้ออกมาสำเร็จได้ดีครับ
ประณิตา Nightmare: ความรู้ที่คุณครูได้ถ่ายทอดทำให้ผลงานมีความสมบูรณ์ตามที่ตั้งใจไว้ค่ะ ได้เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นจนถึงสำเร็จออกมาเป็นชิ้นงาน วิชานี้จะทำให้เรามีความคิดที่เป็นระบบและมีแบบแผนของการทำงาน คล้ายกับว่าเราเดินบันไดไปทีละขั้น และตลอดทางของการเรียนรู้จะมีคุณครูที่คอยชี้แนะและให้คำปรึกษาอยู่เสมอค่ะ
รัฐธีรา Algophobia is Haunting Me: สิ่งที่ได้เรียนรู้มาก ๆ เลย คือการคิดแบบเป็นระบบค่ะ พอรู้วิธีคิด และเข้าใจว่าแนวคิด กลุ่มเป้าหมาย โครงร่างชุด จะต้องสัมพันธ์กัน ทำให้การออกแบบค่อนข้างราบรื่น และสามารถถ่ายทอดแนวคิดได้เต็มที่ลงไปในผลงาน ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ จากทั้งการค้นหาข้อมูลเอง ได้พูดคุยกับอาจารย์และเพื่อน ๆ ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะบอกผ่านผลงานได้มากขึ้นค่ะ
ธนภูมิ The Anatomy of Eddie: ผมได้พัฒนาฝีมือของตนเองไปอีกขั้นในการทำงานเชิงออกแบบ ด้วยเวลาในการทำงานที่จำกัดนั้น อาจารย์สามารถจัดการเวลาต่าง ๆ ในการให้นักศึกษาคิดและค้นคว้าชิ้นงานได้อย่างลงตัว ซึ่งอาจารย์ประจำวิชาค่อนข้างให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดของเราเป็นอย่างมาก โดยให้คำแนะนำที่ดีและไม่ขัดต่อแนวที่เราสร้างขึ้นมาด้วย ถือได้ว่าเป็นการสอนที่จะเตรียมพร้อมเราไปสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ลงตัวอย่างมาก
รับชมผลงานของ Final Project นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิชาเอกออกแบบแฟชั่น รายวิชาการออกแบบแฟชั่น 2 ได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.979819357487553&type=3