Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ครอบครัว’ กับการก่อร่างสร้างตัวตนทางเพศ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่ตีกรอบ

‘ครอบครัว’ กับการก่อร่างสร้างตัวตนทางเพศ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่ตีกรอบ

Perspective 1 ก.ค. 2567
หน้าหลัก Perspective ‘ครอบครัว’ กับการก่อร่างสร้างตัวตนทางเพศ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่ตีกรอบ

สถาบันที่สำคัญต่อการเติบโตและก่อร่างสร้างอัตลักษณ์อย่างครอบครัว มีความสำคัญต่อการตีกรอบตัวตนทางเพศอย่างไร ผ่านมุมมองของอาจารย์สังคมวิทยาฯ มธ.

     ส่งท้ายเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยเรื่องราวของ ‘ครอบครัว’ สถาบันทางสังคมที่มีส่วนสำคัญต่อการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ ตัวตนทางเพศ ซึ่งเราอาจเห็นว่าในปัจจุบันถึงแม้จะมีการเปิดกว้าง ยอมรับและเข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังมีด้านที่ยัง ‘ติดกรอบ’ ในเรื่องเพศแบบเดิม หรืออาจเป็นการตีกรอบให้กับอัตลักษณ์ของ LGBTQIA+ โดยไม่รู้ตัว ซึ่ง ‘ครอบครัว’ นับว่าเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ค้นหาความเป็นตัวเอง ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นพื้นที่ที่ขีดเส้นกั้น ตัวตนที่หลากหลายเหล่านั้นออกไปได้เช่นกัน

     พูดคุยกับ อาจารย์กฤตธี ตัณฑสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาคลี่ให้เห็นถึงตัวอย่างชุดความคิดเบื้องหลัง ที่อาจเข้ามามีส่วนกำหนด หรือกรอบตัวตนทางเพศของคนในครอบครัว

ครอบครัว สำคัญอย่างไร?

     เรามองว่าครอบครัวเป็นพื้นที่สำคัญ ที่สามารถหล่อหลอมให้คนเห็นว่าจะเติบโตไปอย่างไรได้บ้าง การปลูกฝัง บ่มเพาะ ชุดความคิดต่าง ๆ ครอบครัวอาจช่วยชี้ให้เราเห็นแนวทางและความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตโดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องของการประเมินคุณค่าว่าอะไรคือสิ่งที่เป็น ‘ปกติ’ อะไรคือ ‘ไม่ปกติ’ ซึ่งแน่นอนว่าสำคัญต่อการสร้างสำนึกความเป็นตัวตนทางเพศของคนในครอบครัว และเมื่อเติบโตขึ้น ออกไปเจอพื้นที่ทางสังคมอื่น ๆ กลุ่มคนเหล่านี้ก็อาจจะพบความเป็นไปได้อื่น ๆ อีก บางคนอาจจะสามารถถอดถอนชุดความคิดเกี่ยวกับกรอบทางเพศที่พบในครอบครัวเหล่านั้นได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้ในการยอมรับความ ‘ปกติ’ ของตัวเอง ความจริงนี่จะอาจจะเป็นเงื่อนไขของทุกคนแหละ ไม่ว่าจะอัตลักษณ์ไหนหรือนิยามตัวเองอย่างไรก็ตาม

     ดังนั้น ครอบครัวจึงสำคัญอย่างมาก ต่อการเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนสามารถเติบโต ค้นหาความเป็นตัวเอง สร้างสำนึก สร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาได้ เราเริ่มจากครอบครัว แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเบื้องหลังกรอบความคิดทางเพศที่เข้ามากดทับผู้ที่มีความหลากหลายนั้น ต่างก็เป็นสิ่งที่มาจากสังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของการผลิตซ้ำผ่านสื่อที่ฉายภาพจำเดิม ๆ ที่มีต่อตัวตนทางเพศ ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่แฝงมาในรูปแบบของกฎระเบียบบางอย่างที่ยังคงทำให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกลิดรอนสิทธิ หรือถูกเลือกปฏิบัติ

ชุดความคิดอะไรที่ทำให้ ‘ครอบครัว’ ติดกรอบทางเพศแบบเดิม

     เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะครอบครัวแต่ละครอบครัวมีชุดความคิด เบื้องหลัง และที่มาคนละแบบ ทั้งจากแง่มุมของวัฒนธรรม ศาสนา ความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่หากให้มองภาพใหญ่ที่เป็นประเด็นที่เด่นชัดที่เกิดขึ้นในสังคม เราอยากพูดใน 3 ประเด็นด้วยกัน

     ประเด็นแรก คือ ชุดความคิดของครอบครัวที่มาจากความกังวลโดยที่ไม่รู้ หรือความกังวลที่เกิดจากสังคม สิ่งแวดล้อมรอบข้าง เป็นความกังวลว่าหากคนในครอบครัวของตน มีตัวตนทางเพศที่แตกต่างจากขนบเดิม จะสามารถใช้ชีวิต ทั้งในด้านการเรียน ความเป็นอยู่ การทำงาน และในมิติอื่น ๆ ได้ไม่ทัดเทียมกับคนอื่น หรืออาจมองว่าจะใช้ชีวิตยากกว่าคนทั่วไป

     ประเด็นที่สอง มากจากชุดความคิดของการเป็น ‘ครอบครัว’ ที่มาจากรักต่างเพศ อย่างพ่อ-แม่ ก็อาจจะมีชุดความคิดและมองภาพถึงการสร้างครอบครัวที่มีความแตกต่างหลากหลายไม่ชัดเจน หรือไม่เห็นภาพ จะมองว่าหากคนในครอบครัวเติบโตโดยที่มีตัวตนทางเพศที่แตกต่าง จะมีคู่ครองแบบไหน ชีวิตจะมีความมั่นคงหรือไม่ อาจมีปัญหาเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน มรดก และอื่น ๆ ตามมา

     ในปัจจุบัน กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมวุฒิสภาและจะถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในไทย ภาพของครอบครัวในอนาคตอาจมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ถึงตอนนั้นเราต้องมาดูกันใหม่ว่ากรอบความคิดเดิม ๆ เหล่านี้จะเป็นอย่างไร

     จะเห็นว่าสองประเด็นแรกเป็นชุดความคิดของครอบครัวที่เข้ามาตีกรอบความคิดเรื่องตัวตนทางเพศ โดยไม่ใช่ความคิดที่เป็นการกดทับ หรือด้อยค่าคนในครอบครัวที่เป็น LGBTQIA+ แต่เป็นมุมมองที่มาจากความกังวลใจ ซึ่งมีสารตั้งต้นมาจากสังคม สิ่งแวดล้อม ของครอบครัวนั้น ๆ อีกด้วย

     ประเด็นที่สาม จะแตกต่างออกไป เพราะเป็นชุดความคิดที่ดูเหมือนจะเป็นการยอมรับตัวตนทางเพศของคนในครอบครัว เช่น กรณีผู้ปกครองโพสคลิปลูกที่เป็น LGBTQIA+ แต่งตัว หรือแสดงออกโดยเรียกเสียงหัวเราะ ในจุดนี้มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ครอบครัวเปิดรับ และให้พื้นที่แสดงออก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า คอนเทนท์เหล่านี้อาจจะไปตีกรอบตัวตนทางเพศของลูกหรือคนในครอบครัว เป็นการสร้างภาพจำเดิม ที่มาตีกรอบตัวตนความเป็น LGBTQIA+ อีกทีหรือไม่

     สิ่งที่ครอบครัวควรทำ สำหรับเราคือต้องให้พื้นที่ในการเติบโต ค้นหาตัวเอง โดยที่ไม่เป็นการไปตีกรอบ แล้วบอกว่า LGBTQIA+ ต้องเป็นอย่างไร ง่าย ๆ คือทุกคนมีความวุ่นวายในตัวเองหมดแหละ แต่แค่ยอมรับที่ตัวตนของเขาจริง ๆ ก็พอ และหากครอบครัวไม่สามารถเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้ได้ ก็ไม่เป็นไร

     “ถ้าถึงจุดที่ครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับเราอาจจะต้องถอยมามองนิยามของคำว่าครอบครัวใหม่ ครอบครัวอาจไม่ใช่แค่สายเลือด แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะสามารถทำให้คน ๆ หนึ่งเติบโต และสร้างตัวตนของตัวเองได้ ซึ่งสังคมก็ต้องแหวกพื้นที่ปลอดภัยเหล่านั้นให้กับคนทุกกลุ่ม อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองที่เป็นสถาบันการศึกษา ก็ควรที่จะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้กับทุกคนได้ค้นหาแสดงออกตัวตนของตนเอง ได้ลองเป็น หรือลองไม่เป็นอะไร ตัวตนที่คิดว่าใช่ในวันนี้อาจจะเปลี่ยนไปในอนาคตก็ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นอะไร”


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content