Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงานใน ‘สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา’

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงานใน ‘สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา’

Featured Stories 13 ส.ค. 2567
หน้าหลัก Featured Stories กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงานใน ‘สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา’

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงานในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงานในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2567 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ศ. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ นางดารณี วัธนเวคิน นายกสมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และประธานจัดงาน ผศ. ดร.ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาเฝ้าทูลละอองพระบาท

     ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าถวายของที่ระลึก และพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกสมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 70 ราย

     จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทอดพระเนตรการแสดงระบำดอกไม้ของนักศึกษาสาขาวิชาเกาหลีศึกษา และการแสดงระบำรัสเซียของนักศึกษาสาขาวิชารัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการแสดงดนตรีของนักศึกษาสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จากนั้นทอดพระเนตรการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมการเรียนการสอนของนักศึกษา ประวัติการจัดตั้งสาขาวิชา กิจกรรมด้านวิชาการ และการบริการสังคมของสาขาวิชาต่าง ๆ ของคณะศิลปศาสตร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

     สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส จัดแสดงข้อมูลโครงการปริญญาโทการแปลฝรั่งเศส-ไทย ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงแห่งเดียวในประเทศ ศึกษาเกี่ยวกับวิชาภาษาฝรั่งเศสเพื่อการค้นคว้าวิจัย การวิเคราะห์ข้อเขียนภาษาฝรั่งเศส ศิลปะการเขียนภาษาไทยสำหรับนักเเปล การอ่านวรรณกรรมเชิงวิเคราะห์ ทฤษฎีและหลักวิธีการแปล การแปลฝรั่งเศส-ไทยทั่วไป และการวิเคราะห์การแปล นอกจากนี้ ได้จัดแสดงตัวอย่างภาควิเคราะห์บทแปลซึ่งตัดมาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง บทแปลเรื่อง ปากะศิลป์ปกิณกะของฌ้อง อ็องแตลม์ บรียา-ซาวาเร็ง พร้อมบทวิเคราะห์ ของนางสาวเกศราภรณ์ รัตนประทุม ประจำปีการศึกษา 2565

     สาขาวิชาภาษาเยอรมัน จัดแสดงข้อมูลสาขาวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์ที่การเรียนรู้ด้วยตนเองภาษาเยอรมัน การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่ การจัดกิจกรรมประจำปีให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถ การเข้าร่วมเเข่งขันทางวิชาการต่าง ๆ เช่น ต้อนรับผู้ช่วยทูตด้านวัฒนธรรมและการศึกษาจากสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เชิญเอกอัครราชทูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย มาเดินทางมาชมการแสดงละครประจำปี

     สาขาวิชาภาษาจีน จัดแสดงข้อมูลสาขาวิชาและผลงานด้านการแปลของคณาจารย์และนักศึกษา สาขาวิชาภาษาจีน ได้แก่

          – พ.ศ. 2538 “เปาปุ้นจิ้น” แปลโดย อาจารย์และนักศึกษาวิชาเอกภาษาจีนรุ่นที่ 2 และ รุ่นที่ 3

          – พ.ศ. 2546 “เรื่องสั้นของหลู่ซวิ่น” แปลโดย อาจารย์และนักศึกษาวิชาเอกภาษาจีนรุ่นที่ 7

          – พ.ศ. 2557 “เมื่อได้ใกล้ชิดยุคลบาท” แปลโดย อาจารย์และศิษย์เก่าวิชาเอกภาษาจีนที่เป็นอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา

          – พ.ศ. 2562 “เรื่องสั้นของหลู่ซวิ่น” พิมพ์ปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 2

          – พ.ศ. 2562 “เกิดใหม่ในกองเพลิง” แปลโดย อาจารย์และศิษย์เก่าวิชาเอกภาษาจีนที่เป็นอาจาจารย์ในระดับอุดมศึกษา

     สาขาวิชาเกาหลีศึกษา จัดแสดงข้อมูลสาขาวิชาและกิจกรรมของนักศึกษา เช่น เทศกาลสตรอเบอร์รีเมืองนนซาน 2024 ณ กรุงเทพมหานคร (2024 NONSAN STRAWBERRY in Bangkok) วันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2567 และกิจกรรมจิตอาสาต่างแดนระหว่าง Keimyung University และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2566

     สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น จัดแสดงข้อมูลสาขาวิชาและผลงานของตัวแทนนักศึกษาที่รางวัลขวัญใจกรรมการในการแข่งขันคารุตะระดับมือสมัครเล่น ประเภททีม ในการแข่งขันเกมคารุตะเชื่อมความสัมพันธ์ไทย –ญี่ปุ่น ครั้งที่ 17 วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร การเข้าร่วมกิจกรรม Homestay @Hachimantai จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11 – 25 กรกฎาคม 2566 และการประกวดจัดบูธในงาน NIPPON HAKU BANGROK 2023 จัดโดย JEDUCATION วันที่ 1-3 กันยายน 2566

     สาขาวิชาภาษารัสเซีย จัดแสดงข้อมูลสาขาวิชาและกิจกรรมของสาขาด้านการบริการสังคม เช่น การประชุมและสัมมนาภาษาและวัฒนธรรมรัสเซีย การเข้าร่วมการแสดงในงานครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย –รัสเซีย และกิจกรรมของทางสาขาด้านวิชาการ เช่น จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อส่งเสริมความรู้และประสบการณ์แก่นักศึกษา, จัดทำคำบรรยายสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นภาษารัสเซียใน Platform ต่าง ๆ

     สาขาวิชารัสเซียและยูเรเชียศึกษา จัดแสดงข้อมูลสาขาวิชาและจุดเด่นของหลักสูตร โดยนำเสนอด้านภาษา และมิติทางสังคม วัฒนธรรมของรัสเซียและยูเรเชีย สาขาแรกและสาขาเดียวในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการเรียนการสอนจะเน้น 3P อันได้แก่ People, Place และ Planet

     จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงานในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

     ห้องทรงงานในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ที่ชั้น 5 ตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขนาดพื้นที่ 24.60 ตารางเมตร ตกแต่งอย่างเรียบง่าย สอดคล้องกับพระอุปนิสัยและพระจริยวัตร

     ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติมีขนาดพื้นที่ 60.88 ตารางเมตร จัดแสดงพระประวัติ พระปรีชาชาญด้านการบริหาร และพระปรีชาชาญด้านการสอน ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสอนภาษาต่างประเทศ และหัวหน้าสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ควบคู่กับทรงเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศส รวมระยะเวลากว่า 13 ปี ภายในห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่รวบรวมหลักฐานชั้นต้น เช่น เอกสารราชการที่เกี่ยวข้อง เอกสารลายพระหัตถ์ พระดำรัสในวโรกาสต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล ของใช้ส่วนพระองค์ และสิ่งของพระราชทานแก่ผู้ร่วมงานและศิษย์ รวมทั้งภาพและวีดิทัศน์เกี่ยวกับพระกรณียกิจและคำสัมภาษณ์ผู้ที่ถวายงานและลูกศิษย์ นอกจากนี้ยังมีภาพสามมิติ (Hologram) ที่แสดงคติพจน์ภาษาฝรั่งเศสที่ทรงแปลเป็นภาษาไทย และเกมปฏิสัมพันธ์ซึ่งถ่ายทอดมาจากแนวพระดำริ

     สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อคณะศิลปศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2513 – 2519 และทรงเป็นอาจารย์พิเศษระหว่าง พ.ศ. 2519 – 2526 ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ทรงพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในคณะศิลปศาสตร์ให้ก้าวหน้า โปรดให้สร้างหลักสูตรวิชาภาษาต่างประเทศสาขาใหม่ ทรงพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินผลการเรียนการสอนให้ทันสมัย ตลอดจนทรงบริหารและพัฒนาอาจารย์ผู้สอนภาษาต่างประเทศ ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและพระวิริยะอุตสาหะส่งผลให้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นที่รู้จักด้านการสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทย

     นอกจากนี้ยังทรงประกอบพระกรณียกิจและทรงอุปถัมภ์สมาคมหรือหน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ การสาธารณสุข การดนตรี และการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดสร้างห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ใน พ.ศ. 2559 ที่ชั้น 5 ตึกคณะศิลปศาสตร์ ติดกับห้องทรงงาน เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณในฐานะทรงเป็น “สมเด็จอาจารย์” แห่งคณะศิลปศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

     ในเวลาต่อมาองค์การยูเนสโกซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการทรงงานและตระหนักถึงการอุทิศพระองค์อย่างเต็มพละกำลัง จึงอนุมัติให้เสนอสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นผู้มีความสำคัญควรค่าแก่การยกย่องของโลก (2565 – 2566) ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ โดยใน พ.ศ. 2566 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีวันประสูติ และได้ปรับปรุงห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงาน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระอันเป็นมงคลนี้ด้วย โดยการปรับปรุงห้องแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2567


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content