Skip to content

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

super-post

ไม่ว่า ‘อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต’ กฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัว

Perspective 18 เม.ย. 2567
หน้าหลัก Perspective ไม่ว่า ‘อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต’ กฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัว

รศ.ดร.นาถนิรันดร์ จันทร์งาม นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2567 แนะนักวิจัย ควรคำนึงถึงคุณภาพและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัย

รศ.ดร.นาถนิรันดร์ จันทร์งาม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2567 เผยว่า งานวิจัยที่ดำเนินการมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว เพราะกฎหมายระหว่างประเทศปรับใช้กับประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในฐานะที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีส่วนร่วมในกฎหมายระหว่างประเทศด้วยกันทั้งสิ้น

โดยงานวิจัยที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จนั้นมีทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเป็นการเฉพาะและเกี่ยวข้องกับประชาคมระหว่างประเทศเป็นการทั่วไป เช่น 1. ความสัมพันธ์ระหว่างการแบ่งแยกดินแดน การกำหนดเจตจำนงด้วยตนเองของประชาชน และการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศโดยพิจารณาร่วมกับกรณีของสามจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ของ ประเทศไทย 2. บทเรียนและข้อเสนอแนะจากคดีอนุญาโตตุลาการภายใต้สนธิสัญญาการลงทุนคดีแรกของ ประเทศไทย (คดี Walter Bau v. Thailand) 3. การตีความและปรับใช้มาตรฐานการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งในการอนุญาโตตุลาการการลงทุนระหว่างประเทศ 4. บทบาทของความสงบเรียบร้อยในกฎหมาย การลงทุนระหว่างประเทศ และ 5. การตีความและปรับใช้มาตรฐานการคุ้มครองและความมั่นคงอย่างเต็ม ที่ในกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ

รศ.ดร.นาถนิรันดร์ จันทร์งาม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.นาถนิรันดร์ กล่าวเสริมว่า ส่วนงานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เกี่ยวข้องกับการขจัดการเลือกประติบัติในทางเนื้อหาในกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ โดยศึกษาข้อกำหนดหนึ่งที่มักปรากฏในสนธิสัญญาการลงทุน อันได้แก่ ข้อกำหนดว่าด้วยพฤติการณ์ที่เหมือนกัน ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวจะมีผลต่อการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการปฏิบัติของรัฐผู้รับการลงทุนต่อการลงทุนต่างชาติรายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนต่างชาติอีกรายหนึ่ง

ในการทำงานวิจัยนั้น รศ.ดร.นาถนิรันดร์ ได้ให้ความเห็นว่า นักวิจัยควรคำนึงถึงคุณภาพของงานวิจัยและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัย ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไป และ วช. เองก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง สำหรับคุณภาพของงานวิจัยนั้น ก็สามารถพิจารณาในเบื้องต้นได้จากระเบียบวิธีวิจัยประกอบกับการเผยแพร่งานวิจัย และหากถามว่าเพราะเหตุใดจึงควรต้องเผยแพร่งานวิจัย คำตอบเบื้องต้นก็คือ เพื่อให้งานวิจัยนั้นสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ และถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสมวัตถุประสงค์ของการวิจัย สำหรับประโยชน์ของงานวิจัยนั้น งานวิจัยบางชิ้นเป็นงานวิจัยขั้นพื้นฐานในเชิงข้อความคิด บางชิ้นเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติ บางชิ้นมีลักษณะผสมผสานซึ่งในการพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัยแต่ละชิ้น ก็ต้องคำนึงถึงลักษณะ
ของงานวิจัยชิ้นนั้น ๆ ประกอบด้วย ว่าเป็นงานวิจัยประเภทใด สามารถก่อให้เกิดประโยชนอย่างไร แก่วงวิชาการหรือวิชาชีพ หรือทั้งสองวงการ

งานวิจัยที่ผมทำจะเป็นเรื่องที่ผมสนใจจริง ๆ ส่วนผลตอบแทน รางวัล และการยอมรับ ผมเห็นว่าเป็นผลพลอยได้ สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ ถ้าเราทำวิจัยในเรื่องที่สนใจจริง ๆ เราจะสนุกกับมันพร้อมกับได้ความรู้ และอยากให้คนอื่น ได้ลองพิจารณาข้อค้นพบของเราด้วย
สำหรับผมแล้ว ทุกเรื่องที่ผมทำวิจัย ผมได้นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน
และตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติทุกเรื่อง ไม่ว่าจะได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยหรือไม่ก็ตาม


แชร์บทความนี้
Copy
Skip to content